ขอเพียงทุกท่าน "อ่าน" - TopicsExpress



          

ขอเพียงทุกท่าน "อ่าน" ขอเพียงทุกท่าน "แชร์" ความเข้าใจว่า "เขื่อนแม่วงก์" ไม่เกี่ยวอะไรกับ "ในหลวง" ก็จะเกิดในวงกว้าง ^^ อย่าทอดธุระ อย่านิ่งดูดาย... naewna/politic/columnist/8801 พลันที่ผู้คนจำนวนมหาศาล ก้าวเท้าเข้าร่วมเดิน “ต้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์” กับ “นายศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นนักวิชาการ ทำงานในบทบาทของนักอนุรักษ์และเอ็นจีโอ แรงสั่นสะเทือนสังคมไทยก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด ทั้งนี้ ต้องขอคารวะจิตใจของนายศศินและคณะเสียก่อน ที่อุทิศตนเองเพื่อ “จุดประกายความสนใจ” ให้คนในสังคมหันมาเรียนรู้ร่วมกันว่า “เขื่อนแม่วงก์” ควรจะสร้างหรือไม่ บนความไม่คุ้มค่า ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 13,000 ล้านบาท และต้องแลกด้วย “ป่าที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งของโลก” แต่น่าเสียดาย ที่ขณะนี้ สังคมไทย มองเรื่องนี้อย่างฉาบฉวย ตื้นเขิน บ้างบิดเบือนไปเป็นเรื่องการเมืองล้มรัฐบาลบ้าง ที่เลวร้ายหนักคือใช้เรื่องนี้ ตีกระทบ “เจ้า” 1.) มีความพยายามจะอ้างว่า เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอ้างอิงจากข่าวของเว็บไซต์หนึ่ง (เว็บไซต์จังหวัดภูเก็ต phuket.go.th/webpk/news-detail.php?str=1330569091) ที่อ้างว่า “สรุปพระราชดำริ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธีระ วงษ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะข้าราชการกรมชลประทาน (ที่จริงควรมีคำว่า เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อด้วย แต่ไม่มี) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554 โดยมีข้อความว่า “๓.๓ มีรับสั่งถึงประโยชน์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีส่วนในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมา ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้เร่งก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในที่ราบภาคกลาง โดยเร่งรัดการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ปิดกั้นลำน้ำสะแกกรัง ขนาดความจุ ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กรมชลประทานมีแผนจะก่อสร้างเขื่อน” ถามว่า ความพยายามแอบอ้างแต่เรียกว่าอ้างอิงนี้ มีวัตถุประสงค์อะไร? 1.1) แน่นอนว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นแค่เพียงรับสั่งที่ทรงมีต่อคณะของนายธีระขณะเข้าเฝ้าฯ ยังมีสถานะเป็นแค่โครงการของกรมชลประทานเท่านั้น 1.2) นายธีระ วงษ์สมุทร ต้องให้ความชัดเจนในข้อมูลนี้ทันที อย่าได้หลบเลี่ยงให้เรื่องราวลุกลาม 1.3) อย่างไรก็ตาม แนวพระราชดำริที่พระราชทาน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำทันทีโดยไม่ศึกษา “ความเป็นไปได้-ความคุ้มค่า” และข้าม “ขั้นตอนที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติ” ได้ นั่นคือ จะต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์และผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งสำนักนโยบายและแผน (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะเป็นผู้รับผิดชอบ พิจารณา กรมชลประทาน ผู้เป็นเจ้าภาพจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ต้องจัดทำ นำเสนอ อย่างตรงไปตรงมา และครบถ้วนสมบูรณ์ 1.5) ศึกษาได้จากกรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงให้กรมชลประทานเริ่มต้นจากการ “ศึกษาความเป็นไปได้” แล้วจึงสร้าง มิได้ทรงสั่งให้สร้าง 1.4) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิตวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2536ความตอนหนึ่งว่า “...มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้. ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก. เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ. พระราชดำรินั้น ก็เป็นความคิดของพระราชา. ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้...” 1.5) จึงเป็นความพยายามที่เลวร้ายมาก ในการนำเรื่องเขื่อนแม่วงก์มาเป็นเครื่องมือ “กระทบ” ถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.) นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ คอลัมนิสต์เว็บไซต์ประชาไท เขียนเฟซบุ๊คว่า“Don’t get me wrong. ผมดีใจมากทีเห็นคนล้นถนนร่วมกันคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ “เขื่อนใหญ่” แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าจะค้านขอให้ค้านทุกเขื่อนนะครับ อย่าเลือกปฏิบัติกับบางเขื่อน เพราะคนแรกที่สร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมไม่ใช่รัฐบาลนี้แน่นอน เลิกแชร์ได้แล้วครับที่คุณปราโมทย์ ไม้กลัดให้สัมภาษณ์คัดค้าน “เฉพาะ” เขื่อนแม่วงก์น่ะ ปราโมทย์นี่เป็นนักสร้างเขื่อนตัวยงเลย อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (และน่าจะมีการคอร์รัปชันมากสุดด้วย เพราะค่าชดเชยมากกว่าค่าก่อสร้างเขื่อนเกินสองเท่า) ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นโครงการที่อดีตอธิบดีกรมชลประทานท่านนี้เสนอต่อพระเจ้าอยู่หัวฯ เขื่อนป่าสักฯ เป็นโครงการที่ “แปลกมาก” ค่าก่อสร้าง 7 พันล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายในการอพยพคนมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาท และราคาระบบชลประทานเกือบ 4 หมื่นล้าน เป็นโครงการที่ทำให้คนใน 2 จังหวัด 4 อำเภอ 15 ตำบล 65 หมู่บ้าน รวม 7,700 ครอบครัวต้องอพยพออกไป ถามว่าโครงการนี้ช่วยป้องกันกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคกลางจากน้ำท่วมได้ไหม ไม่ได้เหมือนกัน สรุปว่า เขื่อนแม่วงก์ทำลายสัตว์ป่าและพืชพรรณ แต่เขื่อนป่าสักทำลายชุมชนนะครับเหมือนที่ “หาญณรงค์ เยาวเลิศ” เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ไม่มีพื้นที่เหมาะสมให้สร้างเขื่อนอีกแล้ว” เพราะฉะนั้น “ถ้าค้าน ควรค้านให้หมด” และถ้าอ้าง อย่าอ้างว่า “เขื่อนใหญ่บางเขื่อนดี แต่บางเขื่อนไม่ดี” เพราะความจริงมันไม่ดีทั้งหมดแหละครับ รวมทั้งโครงการเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย ไม่ค่อยเห็นมีคนช่วยกันค้านสักเท่าไร” 2.1) นายพิภพ พูดถึงข้อความการให้สัมภาษณ์ของนายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ว่า “เรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นโครงการที่มีมายืดยาวมาก สุดท้ายสรุปว่าต้องศึกษามาใหม่ให้ชัดเจน เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า สผ. ไม่ว่าฝ่ายพัฒนาจะชูประเด็นอย่างไร ถ้าไม่ผ่าน สผ. ก็จบ ผมเองก็นักพัฒนา เป็นนักวิชาการด้านนี้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากได้น้ำ แต่ผมก็ยึดหลักความถูกต้อง ทุกอย่างต้องทำให้ถูกตามระบบ รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจน จะทำอะไรก็ต้องให้ผ่าน สผ. ต้องไปศึกษา มาให้ครบถ้วนทุกประเด็น นักพัฒนาที่ดีต้องคิดให้รอบคอบทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อ สผ. บอกว่าไม่ได้ก็อย่าไปทำเลย ไปคิดทำอย่างอื่นดีกว่า หรือถ้าอยากทำจริง ๆ ก็ศึกษาหาข้อมูลแล้วเอามาแจกแจงกัน อะไรจะทำได้หรือไม่ได้ ศึกษาชี้แจงออกมาเป็นเอกสารให้เป็นเหตุเป็นผล เวลา นี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคณะรัฐมนตรีหรือนักพัฒนาเข้าใจกันไหม ก็เห็นกันอยู่ว่าเขากำลังไล่จับผู้บุกรุกเขตอุทยานฯ ที่อำเภอวังน้ำเขียว แล้วจู่ ๆ ก็มาอนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ทั้งที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่าน พื้นที่ที่จะสร้างเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าผ่านกฎหมายแล้วหรือยัง ถึงจะผ่าน สผ. แต่ก็ยังมีเรื่องของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติอีก ถ้ากรมชลประทานจะเข้าไปทำอะไรตอนนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมาย แล้วนี่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ส่วน ประเด็นที่เขานำเสนอในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมมันก็ ไม่ใช่แล้ว ผมจะเอาคัมภีร์ของลุ่มน้ำสะแกกรังมาเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้ดูว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 5,200 ตารางกิโลเมตร แควใหญ่ ๆ ก็จะมีห้วยแม่วงก์ ห้วยทับเสลา คลองโพธิ์ โดยลุ่มน้ำสะแกกรังทั้งหมดที่จะรับน้ำฝนทุกทิศทุกทางที่ตก 5,200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมันเป็นกระผีกของลุ่มน้ำที่เกิดน้ำท่วม แต่จุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 800 กว่าๆ ตารางกิโลเมตรแค่นั้น เทียบออกมาเป็นตัวเลขให้ดูแบบนี้ก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมใน เขตลุ่มน้ำสะแกกรังได้เลย" 2.2) น่าคิดว่า นายพิภพ ต้องการตีกระทบแค่ “นายปราโมทย์” หรือไม่ 2.3) ข้อสังเกตของนายพิภพ เรื่องค่าชดเชยชุมชนมากกว่าการสร้างเขื่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ได้สะท้อนความใส่ใจที่จะเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง แม้ต้องใช้เงินมาก ส่วนจะมีการทุจริตหรือไม่ นายพิภพควรชี้ประเด็นให้ชัดกว่านี้ ไม่ใช่กล่าวหากันลอยๆ เพราะการตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดี ที่ต้องขอบคุณที่ช่วยกันชี้ให้เกิดการตรวจสอบ แต่ขอว่า อย่าทิ้งนัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย เพราะในขั้นตอนการปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน แต่เป็นไปบนพื้นฐานการสำรวจและวางแผน 2.4) อย่างไรก็ตาม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีการบัญญัติเพิ่มเติมเรื่อง “ผลกระทบด้านสุขภาพ” และ “สิทธิชุมชน” จึงจะเอาไปเทียบกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ใช้กฎหมายเก่าอย่างมักง่ายไม่ได้ ผมอยากให้เราละวาง “อคติส่วนตัว” ลง และซื่อสัตย์ต่อสติปัญญาของตนว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขาตั้งขึ้นเพื่อสืบสานการอนุรักษ์ป่า จากการสละชีวิตของคุณสืบ เหตุที่เขาลุกขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ใช่เพราะดัดจริตดีดดิ้นมา “กูไม่เอาเขื่อน” เขื่อนสร้างได้เสมอแหละครับ ตราบเท่าที่มันคุ้มค่าและไม่ก่อผลกระทบที่มากเกินไป นายศศินประกาศชัดเจนว่า เขาไม่ต้องการทะเลาะกับชาวบ้าน ไม่ต้องการมีปัญหากับคนที่ต้องการเขื่อน แต่ในฐานะนักวิชาการและนักอนุรักษ์ เขากับเครือข่ายได้ศึกษา สำรวจ แล้วพบว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกก ภายในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น เป็นการลงทุนที่ “ทำลาย” มากกว่า “ให้ประโยชน์”ในขณะที่ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น สร้างที่เขาชนกัน หรือทำเป็นอ่างเก็บน้ำหรือฝ่ายขนาดเล็ก กระจายตัวกันออกไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็ต้องนำข้อมูลออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะคัดค้านการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIAเขาจึงระบุอย่างหนักแน่นว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้จริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ และละเลยข้อมูลสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นอกจากนี้ รายงานระบุว่า เขื่อนแม่วงก์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน อีกทั้งรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ อย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 ดังนั้น การเร่งรัดผ่านรายงานในครั้งนี้ จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่า นายศศินนั้น หยิบยก “ข้อมูล” มาเป็นเครื่องมือในการ “คัดค้าน” ไม่ใช่ค้านด้วย “ความเห็น” หรือ “ความรู้สึก” แต่เขาผ่านการศึกษาร่วมกับหลายหน่วยงาน แล้วพบความไม่คุ้มค่า ไม่ตรงไปตรงมา เขาจึงต้องค้าน และหาวิธีที่จะทำให้สังคมสนใจ แล้วมาร่วมเป็นพลังในการคัดค้าน ฉะนั้น หยุดเห็นคนค้านเขื่อนแม่วงก์เป็น “ศัตรู” โดยเฉพาะ “ศัตรูทางการเมือง” หรือ “ศัตรูทางสี” คนค้านเขื่อนกลุ่มนี้ไม่มีสี ไม่มีพรรค มีแต่ความรักในผืนป่าผืนหนึ่งที่เขาศึกษาสำรวจจนรู้ซึ้งในความน่าหวงแหนรักษา เขาพูดด้วย “ข้อมูล-ผลการศึกษา-ผลการวิจัย” เราเห็นต่างอย่างไร ก็เอาข้อมูลมาหักล้างกัน แต่ขณะนี้กลับมีคำสั่งให้เกณฑ์คนมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน คนเสื้อแดงยังเห็นคนต้านเขื่อนเป็นพวกล้มแม่เทพธิดาลาวัลย์ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้างปลอดประสพ สุรัสวดี ก็ยังฟึดฟัด ยืนกรานจะสร้างให้ได้ โดยไม่แยแสสนใจข้อมูลการทักท้วงและคำพูดแต่เก่าก่อนที่ตนก็เคยไม่เห็นด้วย สมัยเป็นอธิบดี มาร่วมสร้างสังคมแห่ง “ปัญญา” กันเถอะครับ เขื่อนแม่วงก์นี้ควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง มาเริ่มกันที่ EHIA ที่ต้องเป็นงานวิชาการอันสมบูรณ์ ซื่อสัตย์ ถูกต้อง รอบด้าน อย่าเป็นแค่รายงานตัดแปะที่คนเขาเรียกกันว่า “อีเหี้ย” หยุดเสี้ยมให้คนมีตีกัน หยุดใช้เป็นเครื่องมือสั่นสะท้านบัลลังก์“เจ้า”หยุดทำราวกับว่า ทางออกมีทางเดียวคือต้องสร้างเขื่อน แสวงหาทางเลือก-ทางออกอื่นๆ เพื่อเก็บผืนป่าดีๆ เอาไว้ให้ลูกหลานบ้าง มี “ป่า” ไม่พอต่างหาก น้ำจึงท่วม น้ำจึงแล้ง ไม่ใช่มี “เขื่อน” ไม่พอ!! จิตกร บุษบา
Posted on: Wed, 25 Sep 2013 16:23:28 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015