คนเอนิเมชั่น "ฝัน" - TopicsExpress



          

คนเอนิเมชั่น "ฝัน" เป็นจริง เจ้าของธุรกิจ Unstop Studio บอกว่าเครื่องมือสร้างเงิน ไม่ใช่แค่ทำตามฝัน แต่ต้องอาศัย "ทีมเก่งกาจและวิชาการตลาดจริงใจ" ธุรกิจอิสระที่ใช้ไอเดียเต็มเปี่ยม อย่าง เอนิเมชั่น เป็นความใฝ่ฝันของ "เถ้าแก่ตัวจ้อย" แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจ Unstop Studio บอกว่าเครื่องมือสร้างเงิน ไม่ใช่แค่ทำตามฝัน แต่ต้องอาศัย "ทีมเก่งกาจและวิชาการตลาดจริงใจ" นักล่ารางวัลในงานแข่งขันเอนิเมชั่นหลายเวที อาทิ Asia Digital Art Award (ADAA) Fukuoka 2012 และ Thailand Animation Festival #2 อย่าง ธนสรณ์ บุญลือ ไม่ได้หยุดความฝันไว้ที่เครื่องประกันความสามารถในวัยเรียน แต่เขาเดินหน้าตามฝันด้วยการสร้างธุรกิจของตัวเอง ในชื่อ อันสต็อบ สตูดิโอ (Unstop Studio) รับผลิตงานเอนิเมชั่น, เว็บ ดีไซน์, โมเดลสามมิติ และวีดิโอพรีเซ็นต์ (Debut Video) ร่วมกับเพื่อนๆมหาวิทยาลัยเดียวกันตั้งแต่อยู่ชั้นปี 2 สาขาวิชามีเดียอาตส์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมเวิร์ก หัวใจฟรีแลนซ์ "มันเป็นความฝันที่จะเปิดบริษัทเอนิเมชั่นของตัวเอง ได้ขายความคิด และบอกให้รู้ว่าเราก็ทำได้ เราเห็นจุดยืนของเอนิเมชั่นเมืองไทย เราก็อยากหาที่ให้ตัวเองได้ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อสองเส้นทางมาบรรจบกันพอดี ตอนเริ่มทำธุรกิจ เราคิดแค่ว่าเรากลัวว่าจะไม่ได้ทำในสิ่งอยากทำ ตอนนั้นความฝันทำให้ความมั่นใจสูงมาก เราก็ตัดสินใจคุยกับเพื่อนๆ โน้มน้าว จนกลายเป็นว่าเราเอาความฝันของเพื่อนๆมาเป็นเดิมพัน เลยเป็นพลังให้ทำต่อเรื่อยมา" ธนสรณ์ กล่าวและว่า จุดเริ่มต้นของ Unstop Studio เกิดจาก 5 ทหารเสือที่มีฝีมือจัดจ้านต่างกัน ทั้งวาดคาเรกเตอร์ตัวละครเก่ง ชำนาญด้านฉาก ลงสี มีฝีมือในฝ่ายร้อยเรียงตัวละคร( Animate) และเชี่ยวชาญด้าน Composit หรือรวมเรื่องให้สมบูรณ์ สต็อบ-ธนสรณ์ กล่าวเสริมว่า ตอนแรกก็จะใช้วิธีชวนเพื่อนๆให้ลองดู ได้ค้นหาตัวเองว่าใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะได้เจอตัวตนเร็ว "ผมอยากทำบริษัทให้เป็นบริษัทที่มีความสุขที่สุด อยากให้ทุกคนตื่นเช้ามาแล้วภูมิใจที่ได้มาทำบริษัทตัวเอง ในเมื่อเราอยากขายงานตัวเอง อยากมีความสุขที่ได้ทำงานกับเพื่อน แล้วเห็นเพื่อนยิ้ม ทุกครั้งที่คิดจะทำอะไรหรือเจออุปสรรคก็จะต้องเลิกท้อ ไม่เป็นไร แค่เกมโอเว่อร์ เริ่มใหม่ และหันมาแก้ปัญหาต่อ สิ่งที่ผมต้องแก้คือ ภาวะผู้นำ จากที่เคยสั่งก็ต้องเปลี่ยนเป็นคุยกัน ความสัมพันธ์จะดีขึ้นถ้าเราดูแลจิตใจของกันและกัน ให้เกียรติกัน ส่วนถ้าไอเดียตีบตันก็ต้องใช้วิธีแต่ละคนปริ้นท์งานในความคิดของตัวเองมานำเสนอคนละ 10 แผ่น ไอเดียจะบรรเจิดขึ้นมาทันที ซึ่งวิธีนี้จะเปลี่ยนนิสัยคนทำงาน และดึงศักยภาพคนทำงานได้ 100%" สำหรับงานแรกของบริษัทอันสต็อป สตูดิโอนั้น เขาเล่าว่าเริ่มจากทำมิวสิกวีดิโอให้กับค่ายเพลงเล็กๆ ในเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝนแห่งน้ำใจ โดยใช้งานสมัยเด็กมาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งตัวละครใช้แรงอธิษฐานเทน้ำลงบนพื้นที่แห้งผาด จนกระทั่งวันหนึ่งฝนก็ตกลงมาจริงๆ เป็นเพราะฝนหลวงนั่นเอง ต่อจากนั้น กระบวนการทำงานของพวกเขาก็ดำเนินไปแบบ "ปากต่อปาก" โดยให้ลูกค้าเล่าเรื่องที่อยู่ในหัวให้ฟัง แล้วก็ใช้ความสามารถด้านเอนิเมชั่น เนรมิตให้ความคิดของลูกค้าเป็นจริง โดยเริ่มจากสร้างตัวละคร สร้างฉาก เสิร์ฟให้ลูกค้าเห็นเป็น Pre-Production แล้วจึงสร้างเรื่องราวให้เป็น Story Board ร้อยเรียงเรื่องราวนั้นๆให้เห็นเป็นเอนิเมชั่น แล้วลงรายละเอียดในฉาก ใส่เสียง และสร้างความสมบูรณ์ของเรื่องทั้งหมด โดยมีหัวใจสำคัญอย่างเดียวว่า ต้องทำให้ผู้ชม "Get" มาร์เก็ตติ้ง ฉบับเศรษฐีน้อย ธนสรณ์ เผยว่าพวกเขาเป็นนักผลิตสื่อ โดยใช้เทคโนโลยีกับไอเดียสร้างสรรค์มาผนวกกัน จึงไม่กังวลกับคำว่า "นักธุรกิจวัยละอ่อน" เพราะลูกค้าต้องการชิ้นงานสดใหม่เสมอ ลูกค้าไม่ต้องการสิ่งเดิม ซึ่งงานเอนิเมชั่น ก็ต้องพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ลูกค้าคิดให้มีชีวิตให้ได้ ส่วนงานเว็บไซต์ จะทำอย่างไรให้ยอดขายของลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ "อายุน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะลูกค้าไม่ถามอายุ แต่จะถามว่าทำงานให้เขาได้หรือไม่ และงานของเราจะสื่อสารออกไปแล้วสำเร็จหรือไม่ แต่ความยากของงานสำหรับสายงานเพียวอาร์ทและเจ้าของธุรกิจตัวเล็กๆอย่างเรา อยู่ที่การเจรจากับลูกค้า เรื่องการสื่อสาร ความตรงต่อเวลา ตลอดจนค่าใช้จ่าย การเสนอราคา ระบบการจัดการ และภาษี ก็ต้องพยายามปรับตัวเรียนรู้จากการทำงาน และศึกษาเรื่องการตลาดไว้เป็นทางแก้" ผู้นำ อันสต็อป สตูดิโอ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพวกเขาใช้การตลาดฉบับจริงใจ โดยเน้นพูดคุยอย่างเปิดอกว่าลูกค้าอยากได้อะไร มีข้อจำกัดใด แล้วบริษัทของเขาทำให้ได้อย่างนั้นหรือไม่ สต็อปยกตัวอย่าง ลูกค้าเว็บไซต์รายหนึ่งต้องการรีแบรนด์ แต่ก็ยังยึดติดรูปแบบหน้าเว็บเดิมๆ ทีมงานของธนสรณ์ยังยืนยันความคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงตามจุดประสงค์จริงๆของลูกค้า เมื่อลูกค้าเชื่อมั่น การทำงานก็ราบรื่นและสัมฤทธิ์ผล "จากการทำงาน ผมเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำ อย่างงานพรีเซนเทชั่นขององค์กรใหญ่ ต้องทดสอบ (Test) ซ้ำๆ จนมั่นใจ ทำให้เราได้ความรอบคอบ บางงานมีข้อจำกัดมาก เช่นห้ามเปลี่ยนขนาดโลโก้ เปลี่ยนสีเด็ดขาด เราก็ต้องแก้ปัญหาและรักษาความต้องการของลูกค้าให้ได้เสมอ เพราะลูกค้ากำลังซื้อความเป็นได้ในอนาคตซึ่งอยู่ในมือเราในตอนนี้" ธนสรณ์กล่าวทิ้งท้าย ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews/home/detail/it/technology/20130617/511603/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87.html
Posted on: Wed, 25 Sep 2013 08:43:10 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015