คุณวิไล - TopicsExpress



          

คุณวิไล วัชรชัยสิริกุล-นักบัญชีดอทคอม ได้โพสต์ไปยังSuthep Pongpitak เมื่อ 3 ก.ย. 2556 ประมาณ 4 ชั่วโมงที่แล้ว ว่า "อาจารย์คะ ขอเรียนถามในฐานะที่อาจารย์จบครุศาสตร์บัณฑิตด้วยว่า คำว่า "ครู" กับ "อาจารย์" มีความหมายเหมือนหรือต่างกันหรือไม่คะ มาจาก อาจาริยะ กับครุ หรือเปล่า ... ขอบพระคุณค่ะ" เรียน อาจารย์วิไล วัชรชัยสิริกุล-นักบัญชีดอทคอม อาจารย์ภาษิต สุขวรรณดี ได้เรียบเรียงความหมายของคำว่า "ครู" และ "อาจารย์" ในบทความ "ความสำคัญของวิชาชีพครู" เมื่อ 22 มีนาคม 2554 ไว้ดังนี้ ความหมายของคำว่า “ครู” ครูคือใคร ? คำว่า “ครู” มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวางมากนัก แต่ถ้าดูจากรากศัพท์ ภาษาบาลีว่า “ครุ” หรือ ภาษาสันสกฤตว่า “คุรุ” นั้น มีความหมายว่า “ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ควรได้รับการเคารพ” ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า “ครู” ไว้หลายประการ เช่น “ครู” คือ ผู้ทำหน้าที่สอนและให้ความรู้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์เกิดความรู้ ความก้าวหน้าในสาขาวิชานั้น ๆ ยนต์ ชุ่มจิต (2541: 29) ได้อธิบายคำว่า “ครู” ดังนี้ 1. ครู เป็นผู้นำทางศิษย์ไปสู่คุณธรรมชั้นสูง 2.ครู คือ ผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ เป็นผู้มีความหนักแน่น ควรแก่การเคารพของลูกศิษย์ 3. ครู คือผู้ประกอบอาชีพอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่สอน มักใช้กับผู้สอนในระดับต่ำ กว่าวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา รังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2550: 38) ได้ให้ความเห็นว่า “ครู” คือ ครู คือ ผู้ที่ให้ความรู้ไม่จำกัดทุกที่ทุกเมื่อ ครูต้องเต็มไปด้วยความรู้ และรู้จัก ขวนขวายหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ สะสมความดี มีบารมีมาก และครูที่ดีจะต้องไม่ปิดบัง ความรู้ ควรมีจิตและวิญญาณของความเป็นครู ครู คือ ผู้เติมเต็ม การที่ครูจะเป็นผู้เติมเต็มได้ ครูควรจะเป็นผู้แสวงหาความรู้ ต้อง วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ และมาบูรณาการความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ครู คือ ผู้ที่มีเมตตา จะต้องสอนเต็มที่โดยไม่มีการขี้เกียจหรือปิดบังไม่ให้ความรู้ เต็มที่ ครูต้องไม่ลำเอียง ไม่เบียดเบียนศิษย์ ในหนังสือ พจนะ - สารานุกรมไทย เปลื้อง ณ นคร (2516: 89) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ครู” ไว้ดังนี้ 1. ผู้มีความหนักแน่น 2. ผู้ควรแก่การเคารพของศิษย์ 3. ผู้สั่งสอน คาร์เตอร์ วี กู๊ด (Carter V. Good. 1973: 586) ได้ให้ความหมายของคำว่า “ครู” (teacher) ไว้ดังนี้ คือ 1. Person employed in an official capacity for the purpose of guiding and directing the learning experience of pupils or students in an educational institution whether public or private. 2. Person who becomes of rich or unusual experiencing or education or both in given field is able to contribute to the growth or development of other person who comes to contact with him. 3. Person who has completed a professional curriculum in a teacher education institution and whose training has been officially recognized by the award of an appropriate teaching certificate. 4. Person who instructs the other. จากคำ ภาษาอังกฤษข้างบนนั้น จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า “ครู” (Teacher) คือ 1. ครู คือ ผู้ที่มีความสามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเรียน สำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน 2. ครู คือ ผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์และมีการศึกษามากหรือดีเป็นพิเศษ หรือมี ทั้งประสบการณ์และการศึกษาดีเป็นพิเศษในสาขาใดสาขาหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้อื่นเกิด ความเจริญก้าวหน้าได้ 3. ครู คือ ผู้ที่เรียนสำเร็จหลักสูตรวิชาชีพจากสถาบันการฝึกหัดครู และได้ ใบรับรองทางการสอนด้วย 4. ครู คือ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนให้ความรู้แก่ศิษย์ นอกจากนี้ คำว่า “ครู” ยังมีความหมายอื่น ๆ ได้อีก เช่น 1. “ครู คือ ปูชนียบุคคล” หมายถึง ครูที่เสียสละ เอาใจใส่เพื่อความเจริญของศิษย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรเคารพเทิดทูน 2. “ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ” หมายถึง การเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกศิษย์ที่จะ ปฏิบัติตัวตามอย่างครู 3. “ครู คือ ผู้แจวเรือจ้าง” หมายถึง อาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่ก่อให้เกิดความ ร่ำรวย ครูต้องมีความพอใจในความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบร้อยอย่าหวั่นไหวต่อลาภยศความ สะดวกสบาย โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ครู คือ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนให้ศิษย์เกิดความรู้ และมี คุณธรรม จริยธรรมที่ดี นำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ในอนาคต ความหมายของคำว่า “อาจารย์” ปัจจุบันคำว่า “ครู” กับ “อาจารย์” มักจะใช้ปะปนหรือควบคู่กันเสมอ จนบางครั้งดู เหมือนว่า จะมีความหมายเป็นคำคำเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รากศัพท์เดิมของ คำว่า “อาจารย์” ไม่เหมือนกับคำว่า “ครู” และเมื่อพิจารณาถึงความหมายดั้งเดิมแล้วยิ่งไม่ เหมือนกัน ท่านพุทธทาสภิกขุ (2529: 93) ได้จำแนกความหมายของ “อาจารย์” เป็น 2 แบบ คือ 1. ความหมายดั้งเดิม หมายถึง ผู้ฝึกมารยาท หรือเป็นผู้ควบคุมให้อยู่ในระเบียบ วินัย เป็นผู้รักษาระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ 2. ความหมายปัจจุบัน หมายถึง ฐานะชั้นสูงหรือชั้นหนึ่งของผู้ที่เป็นครู ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระราชวรมุนี (ประยุกต์ ปยุตฺโต) (2528: 185) อธิบายความหมายของอาจารย์ไว้ดังนี้ 1. ผู้ประพฤติการอันเกื้อกูลแก่ศิษย์ 2. ผู้ที่ศิษย์พึงประพฤติด้วยความเอื้อเฟื้อ 3. ผู้สั่งสอนวิชาและอบรมดูแลความประพฤติ แต่ความหมายของคำว่า “อาจารย์” ตามทัศนะของชาวตะวันตก จะหมายถึง ผู้สอนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งต่ำกว่าระดับศาสตราจารย์ และเป็นผู้สอน ที่ต้องรับผิดชอบต่อการสอนนักศึกษาให้เกิดความก้าวหน้าตามประสงค์เฉพาะของ การศึกษาที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “อาจารย์” ตามทัศนะของคนไทยกับทัศนะ ของชาวตะวันตกแล้วจะเห็นได้ว่า อาจารย์ของชาวตะวันตกจะเน้นความสำคัญไปที่การ สอน คือเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการสอนเฉพาะด้าน และเป็นผู้ที่ทำการสอนใน สถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่ความหมายของคำว่า “อาจารย์” ตามทัศนะของคนไทย จะมี ความหมายกว้างกว่า คือเป็นทั้งผู้สอนวิชาความรู้ อบรมดูแลความประพฤติ และเป็นผู้ที่มี ฐานะสูงกว่าผู้เป็นครู ดังนั้นจึงพอสรุปความหมายของคำว่า “อาจารย์” ได้ว่า “เป็นผู้สอน วิชาความรู้และอบรมความประพฤติของลูกศิษย์ เป็นผู้มีสถานะภาพสูงกว่า “ครู” และมัก เป็นผู้ที่ทำการสอนในระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย” ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่การสอนไม่ว่าจะมีคุณวุฒิระดับใด ทำการสอนในระดับ ไหน จะนิยมเรียกว่า “อาจารย์” เหมือนกันหมด ซึ่งมิใช่เรื่องเสียหายอะไร ในทางตรงกัน ข้าม กลับจะเป็นการยกย่องและให้ความเท่าเทียมกันกับคนที่ประกอบวิชาชีพเดียวกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดมิใช่เป็นคำว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” แต่อยู่ที่การทำหน้าที่ของตนให้ สมบูรณ์ที่สุด ความหมายของคำที่เกี่ยวกับ ครู-อาจารย์ คำที่มีความหมายคล้ายกับ ครู มีหลายคำ เช่น 1. อุปัชฌาย์ - ท่านพุทธทาสภิกขุ อธิบายความหมายของ “อุปัชฌาย์” ว่า หมายถึง ผู้สอนวิชาชีพ แต่ในปัจจุบันนี้ หมายถึง พระเถระ ผู้ใหญ่ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา 2. ทิศาปาโมกข์ - หมายถึง อาจารย์ที่มีความรู้และชื่อเสียงโด่งดัง ในสมัยโบราณ ผู้มีอันจะกินจะต้องส่งบุตรหลานของตนไปสู่สำนัก ทิศา ปาโมกข์ เพื่อให้เรียนวิชาที่เป็นอาชีพ หรือ วิชาชั้นสูงใน สาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อกลับไปรับหน้าที่ทำการงานที่สำคัญ ๆ 3. บุรพาจารย์ หรือ บูรพาจารย์ คือ อาจารย์เบื้องต้น หมายถึง บิดา มารดา ซึ่ง ถือว่าเป็นครูคนแรกของบุตร ธิดา 4. ปรมาจารย์ คือ อาจารย์ผู้เป็นเอกหรือยอดเยี่ยมในทางวิชาใดวิชาหนึ่ง 5. ปาจารย์ คือ อาจารย์ของอาจารย์ ส่วนคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า ครู หรือ Teacher มีหลายคำ คือ 1. Teacher หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประจำในโรงเรียน หรือ สถาบันการศึกษา ต่าง ๆ ตรงกับคำว่า ครู หรือ ผู้สอน 2. Instructor หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนโดยเฉพาะในวิทยาลัยหรือ มหาวิทยาลัย ตรงกับคำว่า อาจารย์ 3. Professor (ในประเทศอังกฤษ) หมายถึง ตำแหน่งผู้สอนที่ถือว่าเป็น ตำแหน่งสูงสุดในแต่ละสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ใน อเมริกาและแคนาดาใช้เป็นคำนำหน้านามสำหรับผู้สอนใน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้คำว่า Assistant Professor รองศาสตราจารย์ ใช้คำว่า Associate Professor ศาสตราจารย์ ใช้คำว่า Professor 4. Lecturer หมายถึง บุคคลผู้สอนในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย ตรงกับคำว่า ผู้บรรยาย 5. Tutor หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่สอนนักศึกษาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือ รายบุคคล โดยทำงานเป็นส่วนหนึ่งของผู้บรรยาย คล้าย ๆ กับ ผู้สอนเสริมหรือสอนกวดวิชา 6. Sophist เป็นภาษากรีกโบราณ หมายถึง ปราชญ์ผู้สอนวิชาต่าง ๆ คล้ายกับคำว่า “ทิศาปาโมกข์” เครดิต: web.aru.ac.th/thani/images/Impro.doc
Posted on: Tue, 03 Sep 2013 04:19:39 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015