ชะรีอ๊ะฮฺ - TopicsExpress



          

ชะรีอ๊ะฮฺ เนื่องจากโลกมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลาซึ่งทำให้สังคมมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายจึงต้องมีวิวัฒนาการให้ทันเหตุการณ์ของโลกไปด้วย ปัจจุบันโลกมีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งในอดีตไม่มี เช่น การโคลนนิ่ง การคุมกำเนิด ธุรกรรมซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ วัตถุดิบใหม่ๆที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตอาหาร ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกกล่าวไว้ตรงๆในคัมภีร์อัลกุรอานและท่านนบีมุฮัมมัดไม่เคยปฏิบัติไว้ มุสลิมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการวินิจฉัยทางกฎหมายที่จะมาตัดสินว่าการปฏิบัติสิ่งดังกล่าวมาเป็นที่อนุมัติหรือต้องห้ามเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ความจำเป็นนี้เองที่ทำให้เกิดชะรีอ๊ะฮฺหรือกฎหมายอิสลามขึ้นมา แหล่งที่มาของชะรีอ๊ะฮฺ คือ 1. คัมภีร์อัลกุรอาน 2. ซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด 3. อิจญ์มาอฺ คือความเห็นเป็นเอกฉันท์ของปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามซึ่งไม่ขัดต่อคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด การได้มาของตำแหน่งผู้นำ หลังสมัยนบีมุฮัมมัด ตำแหน่งนบีได้สิ้นสุดลงเพราะนบีมุฮัมมัดเป็นนบีคนสุดท้ายและหลังจากท่านจะไม่มีนบีเกิดขึ้นอีก แม้โลกจะไม่มีนบีอีกแล้ว แต่สังคมยังจำเป็นต้องมีผู้นำอยู่และจะต้องมีผู้นำอย่างรวดเร็วด้วย เพราะการปล่อยให้สังคมโดยเฉพาะในระดับประเทศไร้ผู้นำจะนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายและไร้ระเบียบ ดังนั้น สาวกของท่านนบีจึงได้คัดเลือกผู้นำประชาคมต่อจากท่านนบีมุฮัมมัดขึ้นมาซึ่งทำให้ประชาชาติมุสลิมได้มีเคาะลีฟะฮฺผู้เที่ยงธรรม(คุละฟาอฺ อัรฺรอชิดีน)อันได้แก่ 1) เคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ อัซซิดดีก 2) เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อัลค็อฏฏอบ 3) เคาะลีฟะฮฺอุษมาน บินอัฟฟาน และ 4) เคาะลีฟะฮฺอะลี บินอบูฏอลิบขึ้นมาสืบทอดการปกครองแบบอิสลามต่อจากท่านนบีมุฮัมมัด การคัดเลือกผู้นำหลังจากการเสียชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัดจากประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้มาทำให้เราเห็นว่า - คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีความรู้ มีคุณธรรม มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในเวลานั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากผู้ใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัด เพราะคนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากท่านนบีมุฮัมมัดโดยตรงทั้งในยามสงบและยามศึกสงคราม อีกทั้งยังเป็นผู้เสียสละเพื่ออิสลามมาโดยตลอดด้วย - ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกผู้นำก็เป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถและมีประสบการณ์เช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนที่ไม่มีความรู้มาเป็นผู้เลือก เพราะผู้นำเป็นผู้คุมชะตากรรมอนาคตของประเทศไว้ หากประชาชนไม่มีความรู้ในเรื่องการปกครองและเลือกผู้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมขึ้นไปเป็นผู้ปกครอง สังคมนั้นก็จะประสบความหายนะ ครั้งหนึ่ง ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “เมื่อความไว้วางใจหมดไป ก็จงรอคอยยามอวสาน” ท่านได้ถูกถามว่า “มันหมดไปได้อย่างไร ?” ท่านได้ตอบว่า “เมื่ออำนาจหน้าที่ได้ถูกมอบหมายให้แก่ผู้ไม่เหมาะสมเมื่อใด ก็จงรอยามอวสานได้เลย” (บันทึกโดยบุคอรี) - การคัดเลือกผู้นำกระทำโดยการปรึกษาหารือกันตามที่ได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า “และจงปรึกษาหารือกันในกิจการของสูเจ้า” (สูเราะฮฺ อัชชูรอ ส่วนหนึ่งของอายะฮฺที่ 38)โดยที่ไม่มีผู้ใดเสนอตัวว่าอยากได้ตำแหน่งหรือบังคับหรือวิ่งเต้นให้คนในที่ประชุมให้เลือกตน แต่เมื่อที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าใครเหมาะสม คนผู้นั้นก็จะต้องรับตำแหน่งหน้าที่ตามที่ได้รับความไว้วางใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีฮะดีษตอนหนึ่งกล่าวว่าอับดุรฺเราะฮฺมาน อิบนุสะมุเราะฮฺได้เล่าว่าท่านรอซูลุลลอฮฺได้บอกเขาว่า “อับดุรฺเราะฮฺมาน จงอย่าร้องขอตำแหน่งผู้ปกครอง เพราะถ้าหากว่าท่านได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้ขอ ท่านจะได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้าหากท่านถูกแต่งตั้งโดยที่ท่านขอ ท่านผู้เดียวที่จะต้องรับผิดชอบ” (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม) - เมื่อที่ประชุมเลือกผู้ใดขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมนั้นก็จะต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีและให้ความร่วมมือแก่ผู้นำที่ตัวเองคัดเลือกมา อิบนุอุมัรฺเล่าว่าเขาได้ยินท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ใครที่ถอนตัวของเขาออกจากการเชื่อฟัง(กล่าวคือ เขาไม่ให้สัตยาบันจงรักภักดีต่อใคร) ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เขาจะพบอัลลอฮฺโดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆและคนที่ตายโดยไม่ได้ให้สัตยาบันจงรักภักดีจะตายในสภาพของความโง่เขลา” (บันทึกโดยมุสลิม) ความจงรักภักดีต่อผู้นำ ความจงรักภักดีและการเชื่อฟังผู้นำที่มีอำนาจหน้าที่ในกิจการใดๆก็ตามถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการเชื่อฟังและความร่วมมือของผู้ตามจะทำให้ผู้นำมีพลังในการสร้างความสำเร็จ ในทางตรงข้าม หากสังคมใดไม่มีการเชื่อฟังและไม่มีความร่วมมือกับผู้นำ สังคมนั้นก็จะได้รับล้มเหลว ในเรื่องนี้ อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงเชื่อฟังอัลอฮฺและจงเชื่อฟังรอซูลและผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในหมู่สูเจ้า..........” (สูเราะฮฺ อันนิซาอ์ ส่วนหนึ่งของอายะฮฺ:59) ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า “คนที่เชื่อฟังฉัน ก็เชื่อฟังอัลลอฮฺ และคนที่ไม่เชื่อฟังฉัน ก็ไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺ คนที่เชื่อฟังผู้นำก็เชื่อฟังฉัน และคนที่ไม่เชื่อฟังผู้นำก็ไม่เชื่อฟังฉัน” (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม) ไม่ว่าผู้นำจะเป็นคนในชาติพันธุ์หรือมีสีผิวใด มุสลิมจะต้องเชื่อฟังเพราะอิสลามให้สิทธิ์แก่พลเมืองมุสลิมอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงสีผิวหรือเผ่าพันธุ์ ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า : “จงฟังและจงเชื่อฟังถึงแม้ว่าทาสนิโกรรูปที่มีร่างอัปลักษณ์และหัวเหมือนกับองุ่นแห้งถูกแต่งตั้งให้มีอำนาจเหนือพวกท่าน” (บันทึกโดยบุคอรี) อย่างไรก็ตาม การเชื่อฟังผู้นำก็ต้องมีขอบเขต ท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า : “มุสลิมมีหน้าที่ต้องฟังและเชื่อฟังผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าเมื่อเขาถูกใช้ให้ทำบางสิ่งที่เป็นบาป ถ้าหากเขาถูกขอให้ทำบาปแล้ว ก็ไม่ต้องฟังและไม่ต้องเชื่อฟัง” (บุคอรีและมุสลิม) คำประกาศเจตนารมณ์ของผู้ปกครอง หลังจากได้รับการเลือกให้มาเป็นเคาะลีฟะฮฺแล้ว อบูบักรฺได้ออกมากล่าวปราศรัยกับประชาชนคล้ายๆกับการแถลงนโยบายของผู้นำประเทศในปัจจุบันว่า : “ฉันได้ถูกเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่านถึงแม้ว่าฉันจะไม่ได้ดีกว่าใครในหมู่พวกท่าน ดังนั้น ถ้าฉันทำดี พวกท่านก็มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ฉันและสนับสนุนฉัน ถ้าหากฉันทำผิด พวกท่านก็มีหน้าที่ต้องทำให้ฉันอยู่บนทางที่ถูกต้อง สัจธรรมและความดีงามเป็นความไว้วางใจที่พวกท่านมีให้ฉัน ดังนั้น การไม่รักษาสัจธรรมก็คือการทำลายความไว้วางใจ คนอ่อนแอในหมู่พวกท่านคือความเข้มแข็งสำหรับฉันตราบใดที่ฉันยังให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาอย่างครบถ้วน และคนที่เข้มแข็งในหมู่พวกท่านคือความอ่อนแอสำหรับฉันเว้นเสียแต่ว่าฉันจะได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับจากพวกเขา จงอย่าทิ้งการญิฮาด เมื่อผู้คนถอยห่างจากการญิฮาด พวกเขาก็จะได้รับความอัปยศ จงเชื่อฟังฉันตราบใดที่ฉันยังเชื่อฟังอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ จงละทิ้งฉันเมื่อฉันไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ เพราะพวกท่านไม่มีหน้าที่ต้องเชื่อฟังฉันอีกแล้ว” การตักเตือนหรือคัดค้านผู้นำ จากคำประกาศของเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺหลังได้รับตำแหน่งผู้นำประชาคมมุสลิม แสดงให้เห็นว่าอิสลามยอมรับการที่ผู้นำจะถูกตักเตือนหรือถูกคัดค้านถ้าหากว่าผู้นำทำความผิดและทำลายความไว้วางใจที่ประชาชนมอบหมายให้ ในสมัยของเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ ผู้หญิงคนหนึ่งก็เคยคัดค้านท่านในมัสญิดและท่านก็รับฟัง การมีฝ่ายค้านในระบบการเมืองการปกครองจึงเป็นสิ่งที่อิสลามยอมรับ แม้ในปัจจุบัน การปกครองในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่จะเป็นระบบประชาธิปไตย แต่การเป็นประชาธิปไตยมิได้หมายถึงการเป็นเผด็จการของพรรคที่มีเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน แต่รัฐบาลประชาธิปไตยหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่จะต้องดำเนินนโยบายไปตามที่ตนเองได้แถลงไว้กับประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องฟังและคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยด้วย การปฏิบัติตัวของผู้นำ เราได้ทราบจากประวัติศาสตร์ว่าในช่วงการปกครองของเคาะลีฟะฮฺผู้อยู่ในทางนำทั้งสี่ อิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ แม้จะมีความปั่นป่วนวุ่นวายในสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุษมานและเคาะลีฟะฮฺอะลี แต่เคาะลีฟะฮฺทุกคนก็ยังยึดคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัดในการดำเนินชีวิตส่วนตัวและการบริหารกิจการบ้านเมือง เคาะลีฟะฮฺทุกคนทำหน้าที่ด้วยความเกรงกลัวบาป เสียสละทรัพย์สินและความสุขส่วนตัว ไม่เบียดบังรัฐหรือใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเองและครอบครัว อบูบักรฺเคยเป็นพ่อค้าที่มีความมั่งคั่ง แต่เขาได้ทุ่มเททรัพย์สินเพื่ออิสลามและรับใช้ท่านนบีตั้งแต่เขาเข้ารับอิสลาม เมื่อเขาขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮฺ เขาก็ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺสามารถที่จะใช้ความมั่งคั่งจากทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลที่ยึดมาได้จากอาณาจักรเปอร์เซียเพื่อความสุขส่วนตัวและครอบครัวได้ตามที่ต้องการ แต่เขาก็ดำรงชีวิตอย่างสมถะและใช้ทรัพย์สินกองคลังอย่างประหยัด เคาะลีฟะฮฺอุษมานก็ใช้ชีวิตธรรมดาอย่างคนสามัญ ส่วนอะลี บินอบูฏอลิบก็ให้ความร่วมมือกับเคาะลีฟะฮฺก่อนหน้าตนเป็นอย่างดี และเมื่อได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำ เขาก็ดำรงชีวิตอย่างสมถะและยึดมั่นอยู่กับคัมภีร์กุรอานและแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด หลังจากสมัยของเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ดังกล่าวมาแล้ว การคัดเลือกผู้นำหรือผู้ปกครองตามแบบอย่างที่สาวกผู้ใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัดวางแบบแผนไว้ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นการสืบทอดอำนาจแบบสันตติวงศ์ ผู้ปกครองมุสลิมกลับกลายเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยและใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ มีการเล่นพรรคเล่นพวกและมีการวางแผนโค่นอำนาจกันตลอดเวลาซึ่งต่อมาได้เป็นสาเหตุนำไปสู่ความล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆในที่สุด การแตกเป็นประเทศ หลังจากสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด อำนาจการปกครองของมุสลิมได้แผ่ขยายครอบคลุมดินแดนส่วนต่างๆของโลกที่ประกอบด้วยชนชาติหลากหลายเผ่าพันธุ์และสีผิว แต่ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมในยุคต่างๆก็อยู่ภายใต้ธรรมนูญอันเดียวกัน นั่นคือ คัมภีร์กุรอานและแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด พลเมืองมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่เป็นมุสลิมนี้ถูกเรียกว่า “อุมมะฮฺ” แม้ประชาคมมุสลิม(อุมมะฮฺ)ที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญชีวิตอิสลามจะมีสีผิวและเผ่าพันธุ์ที่ต่างกัน แต่ความศรัทธาของอิสลามได้หลอมรวมให้ผู้คนที่มีความแตกต่างกันเหล่านี้มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เหมือนกัน เช่น การทักทายด้วยคำว่า “อัสสะลามุอะลัยกุม” การสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย แต่ก็ยังรักษาเอกลัษณ์ของชนชาติตัวเองไว้ การกินอาหารประจำท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ภายใต้กฎสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติและการปฏิบัติศาสนกิจที่เหมือนกัน ดังนั้น อาณาจักรอิสลามจึงไม่มีพรมแดนทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์มาเป็นสิ่งแบ่งแยกเป็นประเทศและมุสลิมก็ไม่มีความรู้สึกว่าชาติพันธุ์หรือสีผิวของตนเองเหนือกว่าผู้อื่น เช่น ถ้าผู้นำละหมาดเป็นคนผิวดำจากอาฟริกา ชาวอาหรับหรือคนผิวขาวก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามโดยไม่ถือว่าตัวเองเป็นชนชาติอาหรับหรือคนผิวขาว แต่เมื่อการปกครองของราชวงศ์อุษมานีย์(ออตโตมานเติร์ก)ล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรอิสลามที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลในสามทวีปและมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองอิสตันบูลประเทศตุรกีในปัจจุบันก็ถูกชาติมหาอำนาจแบ่งแยกออกเป็นประเทศต่างๆ หลังจากนั้น ชาติตะวันตกก็ได้นำเอาแนวความคิดเรื่องชาตินิยมเข้ามาในใช้ในการปกครองและปลูกฝังประชากรมุสลิมให้มีความคิดความรู้สึกในเรื่องชาตินิยมจนปัจจุบันประเทศมุสลิมแต่ละประเทศจะถือผลประโยชน์ของชาติตัวเองมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของประชาคมมุสลิม ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศมุสลิมบางประเทศยังได้นำเอาลัทธิอื่นๆ เช่น ลัทธิสังคมนิยม เสรีนิยมมาใช้ในการปกครองเทศ แต่ที่น่าตกใจก็คือ แม้แต่ประเทศตุรกีซึ่งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอิสลาม หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐธรรมนูญของประเทศตุรกีได้กำหนดว่าระบอบการปกครองของตุรกีคือระบบเซคิวลาร์ (Secular) หรือระบบการปกครองที่แยกตัวออกไปจากศาสนาโดยสิ้นเชิง ระบบเซคิวลาร์ก็คือระบบที่ไม่ต้องการให้คำบัญชาของอัลลอฮฺเข้ามามีส่วนในเรื่องการปกครองหรือการออกกฎหมายนั่นเอง หลังจากที่อาณาจักรอุษมานีย์ล่มสลายแล้ว มีมุสลิมที่เป็นผู้นำทางความคิดหลายคนได้พยายามที่จะรวมประชาชาติมุสลิมที่แตกออกเป็นประเทศต่างๆเข้าเป็นประชาคมเดียวกัน เช่น ญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีผู้มีแนวความคิด “แพนอิสลาม” (Pan Islam) เพราะเขาเชื่อว่าแม้มุสลิมจะแตกออกเป็นประเทศต่างๆ แต่มุสลิมทั่วโลกก็มีวัฒนธรรม ความเชื่ออิสลามที่เหมือนกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะรวมเป็นประชาชาติเดียวกันเหมือนในอดีต แต่ความคิดของเขาก็ยังไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ประเทศมุสลิมทั่วโลกก็มีเวทีสำหรับการปรึกษาหารือกันเพื่อผลประโยชน์ของประชาคมมุสลิมในรูปขององค์การที่ประชุมอิสลาม (Organisation of Islamic Conference)
Posted on: Mon, 12 Aug 2013 03:02:09 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015