สนธิสัญญาปางหลวง (Panglong - TopicsExpress



          

สนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) 12 กุมภาพันธ์ 1947 ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่ปางหลวงนี้ มีสมาชิกจากคณะกรรมการบริหาร (Executive Council) ของรัฐบาลพม่า บรรดาเจ้าฟ้าและผู้แทนรัฐฉาน ชนชาวเขาคะฉิ่นและฉิ่น เข้าร่วม ผู้ร่วมประชุมเชื่อว่าเสรีภาพจะบรรลุถึงได้ในเร็ววันโดยการร่วมมือระหว่างชาวฉาน ชาวคะฉิ่น ชาวฉิ่น และรัฐบาลชั่วคราวของพม่า ผู้ร่วมการประชุมเห็นพ้องกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งในมติดังต่อไปนี้ : 1) ตัวแทนของชนชาวเขาที่ได้รับเลือกจากข้าหลวง (อังกฤษ) โดยการเสนอแนะของคณะผู้แทนในสภาบริหารสูงสุดของชนชาวเขา (SCUHP) จะได้รับการแต่งตั้งให้เห็นที่ปรึกษาข้าหลวงในกิจการที่เกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน 2) สมาชิกสภาบริหารสูงสุดของชนชาวเขาซึ่งมิได้มีหน้าที่บริหารพื้นที่ชายแดน จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการบริหาร (Executive Council) ตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ ส่วนที่ปรึกษาข้าหลาวของรัฐในพื้นที่ชายแดนจะได้มาซึ่งอำนาจบริหารโดยวิธีเดียวกัน 3) ที่ปรึกษาข้าหลวงจะมีผู้ร่วมงานซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาอีก 2 คนมาจากตัวแทนของชนชาวเขาเผ่าที่เหลือ โดยคนทั้งสองจะต้องไม่เป็นสมาชิกในสภาบริหารสูงสุด ผู้ช่วยที่ปรึกษามีหน้าที่รับผิดชอบกิจการที่เกี่ยวกับดินแดนของตน ขณะที่ที่ปรึกษารับผิดชอบพื้นที่ชายแดนส่วนที่เหลือและพวกเขาควรปฏิบัติหน้าที่ตามหลักแห่งความรับผิดชอบร่วมกันตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 4) ที่ปรึกษาจะเป็นสมาชิกและเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียวของรัฐพื้นที่ชายแดนในคณะกรรมการบริหาร 5) แม้ว่าคณะกรรมการบริหารแห่งข้าหลวงอังกฤษจะมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาดังกล่าวแล้ว แต่จะไม่มีหน้าที่บริหารรัฐพื้นที่ชายแดน เพราะอาจไปขัดขวางสิทธิการบริหารกิจการภายในของรัฐดังกล่าว สิทธิในการบริหารกิจการภายในของรัฐพื้นที่ชายแดนได้รับการยอมในหลักการ 6) แม้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนและการสถาปนารัฐคะฉิ่นขึ้นในประเทศพม่า ปัญหานี้จะมอบหน้าที่การตัดสินใจให้กับรัฐสภา ที่ประชุมได้ตกลงกันว่าปรารถนาที่จะสถาปนารัฐนี้ขึ้น และเพื่อให้เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ข้อยุตินี้ ที่ปรึกษาของรัฐพื้นที่ชายแดนและผู้ช่วยที่ปรึกษาจะนำประเด็นนี้ไปหารือในฝ่ายบริหารของรัฐดังกล่าวที่มิตจีนาและบามอ ทั้งนี้ในฐานะเป็นดินแดนส่วนที่สองตามกฎหมายของรัฐบาลพม่าปี 1935 7) ประชากรในพื้นที่รัฐชายแดนย่อมมีสิทธิและเอกสิทธิและเอกสิทธิ์พื้นฐาน เช่นเดียวกับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ 8) การดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามสนธิสัญญานี้จะต้องไม่ละเมิดต่อสิทธิทางการคลังซึ่งมีอยู่แล้วในสหพันธรัฐฉาน 9) การดำเนินการใดๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามสนธิสัญญานี้ จะต้องไม่ทำให้เสียไปซึ่งความช่วยเหลือทางด้านการคลังที่ชนชาวเขาฉิ่นและคะฉิ่นมีสิทธิจะได้รับจากงบประมาณของพม่า และคณะกรรมการบริหารร่วมกับที่ปรึกษาและผู้ช่วยที่ปรึกษาของรัฐพื้นที่ชายแดนจะตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาจัดระเบียบทางการคลังของรัฐชาวเขาคะฉิ่น และฉิ่นให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ดำเนินการอยู่ระหว่างพม่าและสหพันธรัฐฉาน เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของการบรรลุมติการประชุมปางหลวงในครั้งนี้ให้ถือเอาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันสหภาพ (Union Day) และกำหนดให้เป็นวันหยุดแห่งชาติของพม่า ในการประชุมครั้งนี้ ชนชาติกะเหรี่ยงได้ส่งตัวแทนมาร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ แต่ไม่ได้เข้าร่วมลงมติ เนื่องจากดินแดนของพวกเขาไม่รวมอยู่ในพื้นที่รัฐชายแดน เพื่อให้สอดคล้องกับมติการประชุมปางหลวง เจ้าสามทุน ผู้ปกครองเมืองปั๋นได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาพื้นที่ชายแดนประจำข้าหลวงอังกฤษ ซามา ฑุวา นอว์ (Sama Duwa Sinwa Naw) แห่งคะฉิ่น และอู วาง กุฮอ (U Vang Gu Hau) แห่งฉิ่นได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยที่ปรึกษา ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างฉานและพม่าอย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญเดี่ยวกับรูปแบบของความสัมพันธ์ทางการปกครองระหว่างรัฐพื้นที่ชายแดนกับพม่าที่ระบุไว้ในมติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ยังถูกทิ้งค้างไว้ให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปภายหลังในปีนั้น ด้วยเหตุนี้สิทธิที่จะแยกตัวออกไปของรัฐฉานจึงยังมิได้ระบุไว้ในสนธิสัญญาปางหลวง ต่อมาเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะปฎิบัติตามสัญญาอองซาน – แอ็ตลี คณะกรรมการ เพื่อการสอบถามความเห็นของพื้นที่ชายแดน หรือ Fron – tier Areas Committee of Enquiry (FACE) นำโดยนายรีส วิลเลียมส์ (Rees Williams) ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคแรงงานอังกฤษได้ถูกส่งตัวมาจากลอนดอนเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ บรรดาผู้นำของรัฐพื้นที่ชายแดนได้มาให้ความเห็นต่อคณะกรรมการสอบถามในทัศนะเกี่ยวกับความร่วมมือกับพม่าในการก่อตั้งสหภาพ หลังจากนั้นแม้ว่าพม่าจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว ทว่ารัฐพื้นที่ชายแดนยังไม่ได้จัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นมาด้วยเหตุนี้ผู้นำต่างๆ จึงเห็นพ้องกันให้จัดตั้ง Shan State Council เพื่อส่งสมาชิกเข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนและผู้ปกครองรัฐฉาน ทางด้านคณะกรรมการสอบถามความเห็นนั้น พวกเขาได้เสนอรายงานที่เรียกว่า “อนาคตของพื้นที่ชายแดน (future of the Frontier Areas)” โดยระบุถึงทัศนะของผู้ให้ปากคำในสหพันธรัฐฉานและผู้นำชนชาวเขาคะฉิ่น มีใจความสรุปว่า คนเหล่านั้นได้สนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อการสถาปนาสหพันธรัฐพม่า และสหพันธรัฐฉานควรมีรัฐหรือองค์กรปกครองของตัวเองเช่นเดียวกับคะฉิ่น ผู้นำเหล่านั้นยังปรารถนาสิทธิโดยสมบูรณ์ในการปกครองตัวเองในฐานะเป็นรัฐในสหพันธ์ และมอบสิทธิการปกครองโดยรวมให้กับสหพันธรัฐพม่า ในการเข้าร่วมการประชุมในสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นในย่างกุ้ง เมื่อเดือนมิถุนายน 1947 คณะมนตรีแห่งรัฐฉานได้เลือกคณะผู้แทน 25 คน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนที่เป็นผู้ปกครองรัฐ 11 คน คณะผู้แทนของประชาชน 11 คน ร่วมกับผู้แทน 1 คนจากรัฐโกก้าง และ 2 คนจากรัฐคะฉิ่น อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นยังมีผู้นำชาวฉากกลุ่มเล็กๆ จำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อการรวมตัวเข้าเป็นสหพันธ์กับพม่า ทั้งเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เนื่องจากเป็นเสียงส่วนน้อยจึงไม่อาจยับยั้งเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มผู้นำสันนิบาตประชาชนรัฐฉาน (SSPFL) ที่เชื่อว่าการรวมตัวเป็นสหพันธ์จะนำมาซึ่งเอกราชของชาติโดยเร็ว ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษไม่อยากให้ข้อเสนอเรื่องการรวมตัวเป็นสหพันธ์ผูกมัดถึงชนชาติกะเหรี่ยง, คะฉิ่น, ฉิ่น และกลุ่มอื่นๆ ที่เคยรับใช้อย่างจงรักภักดีต่อรัฐบาลอังกฤษช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะเดียวกันอังกฤษไม่สมัครใจที่จะยืนกรานรับรองกลุ่มชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ซึ่งอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า ด้วยเหตุนี้ ในแง่หนึ่ง ข้อตกลงอองซาน – แอ็ตลีได้ต้อนรัฐฉานและรัฐพื้นที่ชายแดนเข้าสู่มุมอับ และเปิดโอกาส ให้อังกฤษได้วางมือจากประเด็นที่ซับซ้อนของชนชาวเขา ด้วยวิธีเดียวกันนี้ รัฐคะเรนนีหรือคะยาซึ่งในอดีตพระเจ้ามินดง (Mindom) กษัตริย์พม่าถูกอังกฤษบังคับให้มอบเอกราชให้กับรัฐนี้ไปแล้ว เมื่อปี 1845 ทว่าบัดนี้คะยากลับถูกกดดันให้มอบคืนเอกราชของตนด้วยการกลับมาเข้าร่วมกับพม่า ส่วนชาวกะเหรี่ยง (Karen) นั้น ชนกลุ่มนี้ได้ส่งผู้แทนไปยังลอนดอน เพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเอง โดยเสนอตั้งรัฐอิสระที่อยู่ภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพรรคแรงงาน ดังนั้นการตัดสินใจที่จะปกครองตัวเองของรัฐฉานและประชาชนในพื้นที่ชายแดนจึงเป็นเพียงช่องทางเดียวที่เปิดให้กับผู้คนในรัฐชายแดนทั้งหลายโดยไม่เหลือทางเลือกอื่นไว้ให้ ในที่ประชุมเมืองปางหลวงยังมีมติอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองโดยรวบรวมกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเรียกว่า “ สมัชชาเสรีภาพแห่งรัฐฉาน (Shan States Freeeom Congress-SSFC)” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947 นำโดยสมาชิกจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารจำนวน 12 คน ทั้งนี้โดยมี อู จ่า บู (U Kya Bu) เป็นประธาน ทว่าหลักการที่จะสร้างเอกภาพให้กับองค์กรที่นิยมเรียกว่า The Congress นี้ ไม่ลึกซึ่งและมั่นคงเพียงพอที่จะป้องกันการแตกแยกและการแทรกซึมจากภายนอกได้ ด้วยเหตุนี้ภายในไม่กี่เดือนต่อมา สมาชิกส่วนใหญ่ได้ถอนตัวไปสร้างกลุ่มของตน ทิ้งสมาชิกที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คนให้สลายตัวไปพร้อมกันองค์กร สภาร่างรัฐธรรมนูญและสิทธิในการถอนตัว สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดการประชุมขึ้นในกรุงย่างกุ้งระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึง 24 กันยายน 1947 และในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น บรรดาสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐฉานและรัฐพื้นที่ชายแดนได้แสดงออกซึ่งความปรารถนาที่จะสร้างสหพันธรัฐที่แท้จริง ที่ยอมรับสถานะและสิทธิของรัฐต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ก่อนการเปิดประชุมสภา องค์กร AFPFL ที่นำโดยออง ซาน ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นแนวทาง ในนั้นบรรจุมาตราต่างๆ ไว้ 14 มาตราในมาตราที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบกรจัดการปกครองรัฐต่างๆ นั้นระบุว่า แต่ละรัฐจะถูกจัดแบ่งตามลักษณะเฉพาะว่าควรจะจัดอยู่ในประเภทรัฐในสหภาพของสหพันธ์ (Federated Union State) หรือเป็นรัฐชองชนชาติส่วนน้อย (Ethnic Minority State) ทั้งนี้โดยดูจาก : 1. ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีเขตแดนแน่นอน 2. ภาษาของเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างจากภาษาพม่า 3. วัฒนธรรมเฉพาะของรัฐนั้นๆ 4. ประวัติศาสตร์ 5. เศรษฐกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ 6. ประชากรที่เพียงพอ 7. ความปรารถนาที่จะจัดตั้งรัฐขึ้นภายในสหพันธ์ตามรูปแบบที่เลือกไว้ ดังนั้นตามมาตรา 3 ที่ระบุไว้ในร่างของ AFPFL สถานภาพของรัฐฉานและพม่าจึงถูก จัดประเภทไว้ในฐานะเป็นรัฐในสหภาพของสหพันธ์ (Federated Union State) นอกจากนี้ ออง ซานยังนำข้อเสนออีก 7 ประการตามจุดยืนของ AFPFL เสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญของสหภาพ ข้อเสนอดังกล่าวได้แก่: 1. กฎหมายรากฐานของชาติต้องวางอยู่บนหลักการกลาง กล่าวคือการสถาปนาสหภาพพม่าในฐานะ เป็นรัฐเอกราช 2. มลรัฐทั้งปวงในสหภาพต้องมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการบริหารกิจกรรมภายในของตน 3. อำนาจของสหภาพพม่าและมลรัฐได้มาจากปวงชน 4. ประชากรของสหภาพควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กฎหมายและความยุติธรรมจะต้องให้ความเสนอภาคต่อประชาชนทุกคน ยกเว้นผู้ละเมิดกฎหมาย สิทธิของปวงชนในการคิด, การแสดงออก, ความเชื่อ, การนับถือศาสนา ในชีวิตและในการรวมตัวกันเป็นสมาคมจะต้องได้รับการรับรองและประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ 5. สิทธิของชนชาติส่วนน้อยจะต้องได้รับการพิทักษ์ไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 6. อธิปไตยของสหภาพเหนือดินแดน ทะเล และอากาศจะต้องได้รับการพิทักษ์ไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ 7. สหภาพพม่าจะต้องมุ่งมั่นให้เกิดสมรรถภาพในการดิ้นรนเพื่อพัฒนาการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงคงปลอดภัยของประชาชน และความร่วมมือกับชาติทั้งปวงด้วยความยุติธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ขณะสภากำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น มือปืนคนหนึ่งได้บุกเข้าไปในที่ประชุมของสภา บริหาร(Executive Council) แห่งรัฐบาลชั่วคราวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 และยิงเข้าใส่ออง ซานและที่ปรึกษาทางการบริหารอื่นๆ อีก 6 คน รวมทั้งเจ้าสามตุนแห่งเมืองปอนจนเสียชีวิต หลังจากการเสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควรของออง ซาน ฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ ในพม่าได้แตกแยกออกจากกัน แต่ละกลุ่มล้วนมีแผนการที่จะเข้าสวมช่องว่างแห่งอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น ในช่วงเวลาแห่งความสับสนและบ้านเมืองไร้เสถียรภาพนั้น ผู้นำของรัฐฉานได้รับการชักชวนอย่างลับๆ จากเจ้าหน้าที่อังกฤษจำนวนหนึ่งให้เดินทางกลับสู่รัฐของตน และสถาปนารัฐฉานเป็นรัฐปกครองตัวเองภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ (Dominion State) ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือทางการทหาร เศรษฐกิจ และการบริหาร เมื่อช่วยตัวเองได้แล้วในภายหลังจึงค่อยจัดตั้งขึ้นเป็นประเทศเอกราช ทว่าในขณะนั้นผู้นำฉานยังคงเพิกเฉยเนื่องจากปักใจอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงตัดสินใจที่จะรอดูต่อไปให้ตลอดกระบวนการ เมื่อออง ซานเสียชีวิตลง ตะขิ่น อูนุได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ AFPFL และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นสภามีมติให้ก่อตั้งสหภาพพม่าในฐานะเป็น รัฐเอกราชนอกเครือจักรภพ ทว่ากฎหมายแม่บทซึ่งร่างขึ้นอย่างเร่งรีบนี้เต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมายการรับรองให้ผ่านออกมาแน่นอนว่าจะต้องมีการแก้ไขในภายหลัง คณะผู้แทนของรัฐฉานที่อยู่ในสภาส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและ ยังอ่อนหัดในงานด้านการร่างกฎหมาย นอกจากนี้ความใฝ่ฝันและกระหายอยากได้เอกราชได้ลบภาพความรู้สึกเก่าๆ จนเลือนหาย กระทั่งมอบความไว้วางใจให้กับผู้นำพม่าซึ่งพวกเขาคิดว่าคงไม่ทรยศต่อสัญญา ในเดือนตุลาคม ข้อตกลงมอบเอกราชระหว่างอูน – แอ็ตลีได้รับการลงนาม และสหภาพพม่าได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 1948 อูนุได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สภาร่างรัฐธรรมนูญยังคงดำรงอยู่ในฐานะสภาชั่วคราวภายหลังเอกราช ทั้งนี้จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ซาน ตุน ที่ปรึกษาสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาว่าทำให้สหภาพพม่าเป็นสหพันธรัฐในทางทฤษฎี แต่เป็นรัฐเดี่ยวในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังแสดงออกถึงการครอบงำของพม่าซึ่งสามารถสร้างสหภาพจอมปลอมที่แสร้งให้สิทธิปกครองตังเองแก่รัฐบาลต่างๆ เกินกว่าการยอมรับที่เป็นจริง ประการเดียวที่เหลือชดเชยไว้อยู่บ้างคือ สิทธิในการถอนตัว (Right of Secession) ตามมาตราต่างๆ เกี่ยวกับการก่อตั้งมลรัฐและสิทธิในการถอนตัว (ภายใต้การปกป้องอย่างเคร่งครัด) นั้น บรรจุไว้เพียงเพื่อทำลายความกังขาของผู้นำรัฐชายแดนมากกว่าจะสนองความจำเป็นทางการเมืองและการบริหารอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงรูปแบบที่จะถ่ายถอนความไม่ไว้วางใจอันยาวนานต่อพม่าที่ชนชาวเขามิอาจลืมเลือน เพื่อแสดงถึงสิทธิในการถอนตัว รัฐธรรมนูญได้ระบุเงื่อนไขไว้ 4 ประการ: 1. หลังจากเวลาล่วงไปแล้ว 10 ปี จึงจะดำเนินการตามสิทธินี้ได้ 2. จะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ (State Counil) 3. ผู้นำของรัฐนั้นจะต้องแจ้งให้ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพรับทราบมติ และผู้นำสหภาพจะสังการให้ จัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการที่ผู้นำสหภาพแต่งตั้งขึ้น โดย ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากสหภาพและตัวแทนของรัฐนั้นฝ่ายละครึ่ง 4. รัฐที่มิได้ใช้สิทธิถอนตัวเท่านั้น ที่ยังคงสามารถใช้สิทธิต่างๆ (ตามทีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ) ในขณะนั้นมีเพียงรัฐฉาน (ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก Shan States เป็น Shan State) และ รัฐคะยาเท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์จะถอยตัวได้ สำหรับรัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยงได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งที่จะใช้สิทธินี้ ขณะรัฐฉิ่นได้ถูกแปลงสภาพเป็น “เขตปกครองพิเศษ (Special Division)” จึงมิได้มีสภาพเป็นรัฐตามเกณฑ์ที่กำหนด อันที่จริง แต่เดิมรัฐชายแดนทั้งหมดมีสิทธิที่จะถอนตัวได้ดังที่ระบุไว้ในสัญญาปางหลวง ทว่าฝ่ายพม่ากลับยักย้ายเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ในเวลาต่อมา ระหว่างการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา ออง ซานได้ขอร้องไปยังรัฐฉานว่าอย่าเพิ่งถอนตัวออกไปในช่วง 10 ปีหลังจากการสถาปนาสหภาพพม่า เพื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามแผนพัฒนา 5 ปี แต่หลังจากนั้นรัฐฉานจะใช้สิทธินี้ก็ได้หากคิดว่าในช่วง 10 ปีนั้นดินแดนของตนไม่ได้รับการชดเชยทดแทนความสูญเสีย ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม ผู้นำฉานยินยอมรับข้อเสนอของออง ซานน่าเสียดายที่ผู้นำพม่าผู้นี้ไม่มีโอกาสได้อยู่เพื่อแสดงความจริงใจให้ปรากฏ ผลเสียเนื่องของข้อตกลงอองซาน – แอ็ตลี, สนธิสัญญาปางหลวง, การลอบสังหารอองซาน, และการเร่งรีบผ่านรัฐธรรมนูญของสหภาพพม่าทั้งหมดกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความปรารถนาของประชาชนชาวฉาน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการตัดสินใจในฐานะรัฐเอกราชตามที่ผู้นำของโลกในองค์กรการสหประชาชาติประกาศไว้ ยิ่งกว่านั้นยังนำพาพวกเขาไปสู่ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากในประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน รวบรวมโดย "คนเครือไท khonkhurtai.org" คนเครือไท เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไทใหญ่ - รัฐฉาน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรการเมืองและการทหารกลุ่มใด
Posted on: Mon, 16 Sep 2013 12:55:25 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015