คอลัมน์: เรื่องเดียว - TopicsExpress



          

คอลัมน์: เรื่องเดียว หลากประเด็น พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต จำกัด (มหาชน) ชื่อตอน: กระแสเงินทุนยังโน้มไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ การปรับพอร์ตระดับโลกยังคงดำเนินต่อไป โดยโยกเงินบางส่วนออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง ไปเข้าตลาดหุ้นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐที่เศรษฐกิจส่งสัญญาณค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น สวนทางตลาดอีเมอร์จิ้งที่เศรษฐกิจแผ่วลง นอกจากนั้นในหลายประเทศยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ บัญชีเดินสะพัดขาดดุลหนัก จนสกุลเงินเสื่อมค่าลงมาก เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี 51 เป็นต้นมา นักลงทุนสถาบันทั่วโลกได้ทยอยถอนการลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยในส่วนของตลาดหุ้นเงินไหลออกไปราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย เม็ดเงินใกล้เคียงกันถูกโยกเข้าสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรและทองคำที่ได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสำคัญร่วมมือกันผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ราคาพันธบัตรที่พุ่งขึ้นได้ฉุดบอนด์ยีลทั่วโลกดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น พันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ ยีลต่ำสุดเหลือแค่ 1.44% เป็นต้น ส่วนทองคำทะยานขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,920ดอลลาร์/ออนซ์ ช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยืดเยื้อในตลาดหุ้นหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของประเทศอีเมอร์จิ้งฟื้นตัวได้ก่อน จึงดึงดูดเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นหลัก ไปยังตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งทั่วโลก ผลข้างเคียงจากการทำ QE ยังทำให้ “ฮอทมันนี่” ไหลทะลักเข้าตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลัก ส่งผลให้ตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นหลักๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ จากจุดต่ำสุดช่วงเกิดวิกฤตให้ผลตอบแทนราว 160% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงเดียวกันให้ผลตอบแทนสูงถึง 310% เป็นต้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ยังผลให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เตรียมลด QE หากเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนหลุดจากภาวะถดถอยแล้ว และเริ่มมีเสถียรภาพ สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐและยุโรป ทำให้กระแสเงินทุนไหลย้อนกลับเข้าตลาดหุ้นหลัก โดยส่วนหนึ่งโยกออกจากตลาดตราสารหนี้ อีกส่วนหนึ่งโยกออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ บอนด์ยีล 10 ปีของสหรัฐ ไต่ขึ้นไปอยู่แถว 2.9% ส่วนของไทยรุ่น 10 ปีเช่นกัน ขึ้นไปแถว 4.2% แล้ว บอนด์ยีล 10 ปี เป็นตัวแทนของอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงหรือ Risk Free Rate เมื่อมันถีบตัวสูงขึ้นกว่า 1% ก็ทำให้นักลงทุนเรียกร้องผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หากต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ในส่วนของตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น เห็นชัดว่า นับจากที่เฟดส่งสัญญาณลด QE เมื่อวันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปถอยลงไป ก่อนจะเด้งกลับมาใกล้เคียงจุดสูงสุดเดิมแล้ว แต่ตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งพีคไปแล้ว และยังลงไม่หยุด เช่นตลาดหุ้นกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ติดลบอยู่ 15-20% ทีเดียว เป็นต้น ขณะนี้ตลาดได้รับข่าวเฟดเตรียมลด QE ไปพอสมควรแล้ว เห็นได้จากบลูมเบริกโพลที่สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงวันที่ 9-13 ส.ค. พบว่านักเศรษฐศาสตร์ 65% คาดการณ์ว่า เฟดจะเริ่มลด QE ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ โดยน่าจะลดการฉีดเงินกระตุ้นเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีนี้ผู้ลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วถึง 1.1 แสนล้านบาท แต่ยังมีหุ้นจะขายได้อีกมากมาย หากจะขายจริงๆ ป่วยการที่จะไปนั่งนับตัวเลขย้อนหลังที่ซื้อสุทธิมาเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้รวมผลของราคาหุ้นที่ขึ้นมาเป็นเท่าๆ ตัว และไม่ได้รวมการซื้อหุ้น IPO รวมถึงหุ้นเพิ่มทุนต่างๆ ต่อให้ขายเหลือน้อยแล้ว แต่ถ้ามองว่ามีโอกาสลงได้อีก ก็ยังสามารถยืมหุ้นมาชอร์ตเซลส์ได้อีก แล้วจุดกลับตัวของตลาดหุ้นไทยอยู่ตรงไหน ประการแรก ผมเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังเปราะบาง แต่ผลข้างเคียงของ QE สูง โดยเฉพาะต่อตลาดการเงิน การลด QE จึงอาจเป็นเพียง “การลดเชิงสัญญาณ” เท่านั้น ดังนั้นหากเฟดเริ่มจากการลดในปริมาณน้อย อาจกระตุ้นให้เกิดการซื้อหุ้นกลับ โดยเฉพาะพวกที่ชอร์ตเซลส์ไว้ ประการที่สอง บอนด์ยีล 10 ปีของสหรัฐขึ้นมาค่อนข้างเร็ว และมีแนวต้านสำคัญอยู่แถว 3.22% บริเวณนี้อาจเป็นจุดกลับตัวของตลาด ส่วนบอนด์ยีล 10 ปีของไทยน่าจะบวกเครดิตสเปดขึ้นไปอีก 1.5-2% คร่าวๆ หากใกล้ 5% อาจเป็นจุดเด้ง รวมถึงของตลาดหุ้นด้วย ประการที่สาม Valuation Gap ค่าพีอีตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยจะต่ำกว่าของตลาดหุ้นสหรัฐราว 25% ปี ล่าสุดของเราเทรดอยู่ที่พีอีที่ 12.2 เท่าของกำไรปีนี้ แต่มีโอกาสถูกปรับลดกำไรเพราะเศรษฐกิจแผ่ว ส่วนของสหรัฐเทรดอยู่ที่เกือบ 15 เท่าของกำไรปีนี้ แต่มีโอกาสถูกปรับเพิ่มกำไรเพราะเศรษฐกิจกำลังเหวี่ยงขึ้น ยิ่งส่วนต่างนี้กว้างขึ้น จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่ม “ถูกคุ้มเสี่ยง” นอกจากนั้น ตลาดหุ้นเอเชียเหนือ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่เทรดที่พีอีต่ำเพียง 8.5 เท่า และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ตลาดแถบนี้น่าจะเป็นตลาดที่นำการฟื้นตัวรอบถัดไป ตลาดหุ้นไทยคงไม่ใช่ตัวเลือกแรก ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจแผ่วลง ขณะที่มีความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนเมกะโปรเจคล่าช้า โดยรวมตลาดหุ้นไทยแม้ไม่โดดเด่น Valuation ไม่แพง แม้จะไม่ใช่ตลาดที่ถูกสุด อย่างไรก็ดี ผมมองว่า การปรับฐานรอบนี้ ไม่ว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ที่ 1300, 1250 จุด หรือต่ำกว่านั้น แต่ภายในไม่เกินปีครึ่ง ยังคงมีนิวไฮท์อยู่ดี จึงมองเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นที่ได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น INTUCH, ADVANC, AOT, VGI, BGH, CHG, HMPRO, CPN เป็นต้น
Posted on: Mon, 26 Aug 2013 02:33:17 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015