ตัวช่วย vs ตัวฉุด โดย - TopicsExpress



          

ตัวช่วย vs ตัวฉุด โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์ การวิเคราะห์หุ้นรายตัวหรือรายอุตสาหกรรมนั้น มีปัจจัยสำคัญหลายชนิดที่นักลงทุนควรนำพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุน เพราะปัจจัยเหล่านั้น อาจเป็น ‘ตัวช่วย’ หรือ ‘ตัวฉุด’ ต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเพียงครังเดียว ระยะสั้น กลาง ยาว หรืออย่างถาวร ลองมาดูกันว่า ‘ตัวช่วย’ หรือ ‘ตัวฉุด’ ในการลงทุนมีอะไรบ้าง ข้อแรก แนวโน้มใหญ่ (Mega Trend) และกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย (Aging Economy) จะเป็นตัวช่วยต่อกลุ่มธุรกิจการแพทย์อีกหลายสิบปี การเคลื่อนย้ายประชากรสู่สังคมคนเมือง (Urbanization) เป็นตัวช่วยถาวรต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสินค้าและบริการเข้าถึงผู้บริโภคตามหัวเมืองใหญ่ เมืองรอง หรือเมืองตามแนวเขตชายแดน การเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไอซีทีและการสื่อสารเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์สินค้าที่สวนกระแสนั้น มักเป็นตัวฉุดถาวรต่อผลประกอบการ เช่น หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยกระดาษ ฟีเจอร์โฟน คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ กำลังถูกกระแสความนิยมและถูกทดแทนด้วยสื่อสิ่งพิมพ์อิเลคทรอนิคส์ สมาร์ทโฟน แทปแล็บ เป็นต้น ข้อสอง สัมปทาน กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เช่น สัมปทานจากภาครัฐเป็นตัวช่วยให้กิจการมี Barrier to Entry หรือทำให้การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ได้ยากขึ้น ช่วยลดสภาวะการแข่งขันตลอดอายุสัมปทาน ดังนั้น เงื่อนไขของสัมปทานจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการ ส่วนทางปฏิบัตินั้น กรณีถูก ‘ขอร้อง’ ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาอาจเป็นตัวฉุดผลกำไรให้ไม่เป็นไปตามคาดได้ การประกาศลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% และ 20% เป็นตัวช่วยถาวรที่ส่งผลดีต่อกำไรในกรณีที่กิจการได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่ปรับขึ้นน้อยกว่า สำหรับบริษัทที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีหรือเสียภาษีต่ำกว่าเกณฑ์ การลดภาษีอาจเป็นตัวฉุดความสามารถในการทำกำไรให้ด้อยลงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่รับภาระภาษีน้อยลงด้วย ข้อสาม เงินเฟ้อ (Inflation) และเงินฝืด (Deflation) สินค้าและบริการของกิจการส่วนใหญ่มักสามารถปรับระดับราคาสูงขึ้นตามภาวะและความเหมาะสมหรืออยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) นี่คือตัวช่วยถาวรเพราะกิจการยังมีการเติบโตทางรายได้ด้วยปริมาณธุรกรรมเท่าเดิม หากสามารถขยายตลาดและเพิ่มปริมาณการจำหน่ายสินค้าและบริการได้มากขึ้นอีก รายได้จะยิ่งเติบโตสูงขึ้นมากอีกด้วย กลุ่มกิจการเหล่านี้ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม สาธารณูปโภค พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจบางชนิด นอกจากจะไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้แต่ยังมีแนวโน้มที่ระดับราคาต่อหน่วยลดลง หรืออยู่ในภาวะเงินฝืด (Deflation) การเติบโตของรายได้จึงต้องพึ่งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยจะต้องชดเชยราคาต่อหน่วยที่ปรับลดลงจากปริมาณธุรกรรมเดิม สินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ หากยังไม่มีความต้องการใช้สินค้าทันที ผู้บริโภคมักจะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป เพราะมักคิดเสมอว่า ‘ถ้าซื้อพรุ่งนี้ อาจมีราคาถูกกว่าซื้อวันนี้’ หรือ ‘สินค้ารุ่นใหม่ที่กำลังจะวางตลาดอีกไม่นานน่าจะมีคุณสมบัติดีขึ้นและราคาถูกลง’ นั่นเอง ข้อสี่ การปรับขึ้นของต้นทุนดำเนินงาน เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนและค่าแรงทั่วประเทศ การปรับขึ้นค่าสาธารณูปโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าทางด่วน ค่าขนส่ง การลดมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ การปรับขึ้นจึงเป็นตัวฉุดและบั่นทอนผลการดำเนินงานอย่างถาวรเพราะมักไม่มีการปรับลงอีก นักลงทุนจึงต้องพิจารณาว่า ต้นทุนที่ปรับขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อกิจการที่ลงทุนอย่างไร หากมีสัดส่วนเป็นนัยสำคัญมากก็จะส่งผลต่อผลประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อสุดท้าย บางเหตุการณ์อาจเป็นได้ทั้ง ‘ตัวช่วย’ หรือ ‘ตัวฉุด’ เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า การควบรวมกิจการส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานกิจการของผู้เสนอซื้อหรือผู้ถูกเสนอซื้อ การถูกปรับเข้าหรือออกต่อการคำนวณดัชนี MSCI การปรับเพิ่มหรือลดระดับความถูกแพง (Re-rating/De-Rating) ของตลาดหุ้นไทยส่งผลต่อส่วนเพิ่มส่วนลดของราคาหุ้น นักลงทุนจึงต้องพิจารณาเหตุการณ์ดังกล่าวว่ามีผลดีผลเสียหรือทำให้พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ในฐานะ Value Investor ต้องนำ ‘ตัวช่วย’ และ ‘ตัวฉุด’ ทั้งหมดมาวิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อกิจการที่ตนสนใจ สำหรับ VI พันธุ์แท้ต้องวางแผนวิเคราะห์และประเมินซ้ำ (re-assessment) หุ้นที่ตนถือและหุ้นที่เฝ้าติดตาม (watch list) อย่างสม่ำเสมอเช่น ทุกเดือน ไตรมาส หรือหกเดือน เพื่อให้การวิเคราะห์และการตัดสินใจมีความถูกต้องแม่นยำจากข้อมูลล่าสุดที่เกิดขึ้น นี่คือการใช้เวลาลงทุนให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าการติดตามราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อรู้สึกดีใจที่เห็นขึ้นและเสียใจที่เห็นหุ้นลง รายวัน!
Posted on: Sat, 27 Jul 2013 15:24:11 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015