20092556 พลังประชาสังคม - TopicsExpress



          

20092556 พลังประชาสังคม ต้านโกงได้ แสงเทียน ส่องปัญญา 15 กันยายน 2556 ปัจจุบัน สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยก้าวเข้าสู่ มหาวิกฤตคอร์รัปชัน รูปแบบคอร์รัปชันในอดีต ซึ่งสามารถพบเห็นโดยง่ายหรือพออนุมานได้ เป็นการทุจริตคอร์รัปชันแบบ “เดี่ยว” คือ กระทำโดย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจ หรือโดยนักการเมือง หรือนักธุรกิจ อย่างหนึ่งอย่างใด นักธุรกิจจะเสนอ ค่าตอบแทนหรือสินบนให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ไม่ว่าผู้นั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เช่น การออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ การต่อทะเบียนรถ งานทะเบียนราษฎร์ ใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ ความสะดวกในการนำเข้าส่งออก การขอสัมปทานโครงการต่าง ๆ เป็นต้น และในทางกลับกัน ข้าราชการหรือนักการเมืองก็จะเป็นผู้เรียกร้องค่าตอบแทนหรือสินบนจากนักธุรกิจ รูปแบบคอร์รัปชันเดิม ๆ ก็เป็นเพียงแค่การจ่ายสินบนใต้โต๊ะ เป็นแค่ขอค่าน้ำชาเล็ก ๆ น้อย แต่บัดนี้ คอร์รัปชันได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายมากขึ้น และได้วิวัฒนาการไปตามกระแสการยอมรับ “อำนาจเงิน” ของสังคมส่วนหนึ่ง ในปัจจุบัน นอกจากจะพบเห็นคอร์รัปชันแบบเดี่ยวแล้ว ยังมีคอร์รัปชัน “แบบรวมหมู่” เกิดขึ้น คือการร่วมมือกระทำการทุจริตคอร์รัปชันแบบบูรณาการระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจและข้าราชการ และอาจรวมองค์กรอิสระ และสื่อด้วยรูปแบบคอร์รัปชันเชิงบูรณาการได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง มีลักษณะซับ – ซ้อน แยบยล และโยงใยกันเป็นเครือข่ายทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับชาติร่วมมือกับระดับท้องถิ่น และอาจขยายออกไปถึงระดับระหว่างประเทศอีกด้วย รูปแบบคอร์รัปชันปัจจุบัน มีตั้งแต่ การซื้อ-ขายตำแหน่งในวงเงิน 5 – 6 หลัก การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ การทุจริตการเลือกตั้ง การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในวงราชการ ซึ่งเรียกสินบนร้อยละ 20 – 35 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งตีค่าเป็นเงินประมาณมากกว่า 2 แสนล้านบาท สำหรับงบประมาณประจำปี 2556 เป็นต้น ยิ่งไปกว่านี้ การทุจริตคอร์รัปชันยังได้กระจาย แพร่หลาย และซึมซาบลงไปทั่วทุกภาคส่วน ทุกสถาบันของสังคมไทยจนกลายเป็น “วัฒนธรรมการโกง” ของสังคมโดยไม่มีความละอายต่อบาป ไม่ยี่หระต่อการผิดศีล-ธรรม จริยธรรมและคุณธรรม อาทิ การโกงข้อสอบ การลอกวิทยานิพนธ์ การทุจริตการสอบครูผู้ช่วย การกระทำผิดกฏหมาย การใช้เงินกองทุนไปผิดประเภท การยักยอกทรัพย์สินของสถาบัน/บริษัท การซื้อสิทธิ-ขายเสียง การขายสินค้าไม่ได้คุณภาพเป็นต้น การทุจริตคอร์รัปชันเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องถูกต้องของสังคมไทยไปแล้วหรือ ? ปัญหาวิกฤตคอร์รัปชัน จึงได้อุบัติขึ้นแล้วในแผ่นดิน !!!! เหตุใดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันจึงเติบโตขยายกลายเป็น มหาวิกฤตคอร์รัปชันได้ คอร์รัปชันในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่มหาวิกฤตคอร์รัปชัน เนื่องจากด่านปราการต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน (ยัง)ไม่ทำงานหรือไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ขาดความเข้มแข็ง หรือพบอุปสรรคกีดขวางในการทำหน้าที่ของตน ซึ่งพอสรุปประเด็นได้พอสังเขป ดังนี้ ด่านปราการแรก คือ รัฐบาล รัฐบาลไม่จริงจังต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้สิ้นซากอย่างถาวร ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสาธารณะร่วม10 ครั้ง ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ในการปราบปรามผู้ทุจริต โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น ด่านปราการที่สอง คือ สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนและมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหารเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ของชาติและของประชาชน ยังขาดความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับการทำงานฝ่ายบริหาร ตั้งแต่กระบวนการจัดตั้งเงินงบประมาณ การใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการประมินผลงานตามวงเงินงบประมาณ ด่านปราการที่สาม คือ ป.ป.ช. ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภา และข้าราชการของรัฐ เกิดอ่อนแรง อ่อนหล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นไปตามมาตรฐานได้ เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ การถูกแทรกแซงทางการเมือง เงินงบประมาณและกำลังคนจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างระหว่างสรรพกำลังและกำลังเงินงบประมาณที่มีอยู่ กับ ปริมาณการทุจริตคอร์รัปชันที่มีจำนวนมาก ด่านปราการที่สี่ ข้าราชการตงฉินถูกกลั่นแกล้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการตงฉินถูกกลั่นแกล้งในการทำหน้าที่ตามนโยบายเพื่อประโยชน์สุขของชาติบ้านเมืองและประชาชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติให้มีความยั่งยืน บนพื้นฐานการบริหารจัดการที่ดีและพิทักษ์รักษาเงินของแผ่นดินเป็นที่ตั้ง สภาพปัจจุบันซึ่งปรากฏชัดอย่างชัดแจ้งและชัดเจนแล้วว่า ข้าราชการตงฉินถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับความยุติธรรม ประกอบกับ มีข้าราชการกังฉินจำนวนมากสามารถสอดแทรกให้ได้มาและใช้อำนาจไปในทางทุจริตและเพื่อประโยชน์ตน เครือญาติ พวกพ้อง และเพื่อเจ้านาย อยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เนื่องจาก ในวงราชการมีการซื้อขายตำแหน่งอย่างมากมาย โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญ ๆ จะมีการซื้อขายด้วยตัวเลข 6 ถึง 7 หลัก และ เมื่อมีการลงทุนซื้อ-ขายตำแหน่ง ย่อมมีการถอนเงินทุนคืน ประการที่ห้า เสียงสะกิดเตือนสังคมถูกย่ำยี ปราการด่านที่ห้า คือสถาบันวิชาการที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นถึงข้อดีและข้อด้อย ให้ สถาบัน องค์กร และประชาชนได้รับทราบเพื่อนำไปพินิจ พิเคราะห์ และตัดสินใจในการบริหารงาน อันจะก่ออรรถประโยชน์สูงสุดให้แก่แผ่นดิน ให้สังคมและให้ปวงชน จะเห็นได้จากสถานการณ์ขณะนี้ ว่า นักวิชาการของสถาบันวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ซื่อตรงที่มีอยู่เพียงจำนวนน้อยนิด ถูกผู้มีอำนาจในองค์กรภาครัฐ เข้ามาปราม ข่มขู่หรือฟ้องร้องดำเนินคดี ประการที่หก สื่อกระบอกเสียงประชาชนถูกข่มขู่ ด่านที่หก ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสู่ประชาชน คือสถาบันสื่อ ซึ่งทำหน้าที่สร้างความโปร่งใสให้สังคม ถูกข่มขู่ ถูกคุกคาม ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกปิดปากด้วยการออกกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพของสื่อให้ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาใสให้ประชาชนและสังคม และสื่อจำนวนไม่น้อย มีความหวาดกลัวในอำนาจมืด และถูกครอบงำด้วยเงินตรา การทำหน้าที่ของสื่อจึงพบอุปสรรคในการเกาะติด ติดตาม ขุดคุ้ยและนำเสนอเผยแพร่ข้อเท็จจริงการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบและเตือนสติประชาชน มีเพียงสื่อเป็นเพียงส่วนน้อยที่รู้เท่าทัน ยังคงปักหลัก ต่อสู้ และเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินและมาตรฐานวิชาชีพของตน แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความกดดันทุกรูปแบบ แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไม่ย่อท้อ ยังดิ้นรนและยืนหยัดที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างจริงใจและจริงจังโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดใด “พลังประชาสังคม ” ต้านโกงได้ เนื่องจากองค์กรในระบบซึ่งมีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน อันได้แก่ รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ สถาบันวิชาการ และสื่อ ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ อ่อนหล้า หมดเรี่ยวแรงและกำลังหมดสภาพ จึงทำให้คอร์รัปชันแผ่ขยายซึมซาบไปทั่วทุกตารางนิ้วและสร้างทุกข์ให้แผ่นดินอย่างใหญ่หลวงอย่างที่มิเคยปรากฏขึ้นมาก่อน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ยังมีอีกพลังหนึ่งที่มีเรี่ยวแรงมหาศาลหากได้รับการส่งเสริมให้ก่อตัวขึ้น จะสามารถหยุดยับยั้งและต้านโกงกินทั้งแผ่นดินได้ นั่นคือ “พลังประชาสังคม (Civil Society)” สถานการณ์ของ “พลังประชาสังคม” ต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ผู้เขียน เห็นว่า พลังประชาสังคม (Civil Society) มีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการต้านคอร์รัปชันได้ ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ถึง “ปลายน้ำ” กล่าวคือ ตั้งแต่การคัดกรองคนดี (นักการเมืองดี) เข้าสู่ระบบรัฐสภาและฝ่ายบริหารทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการทำหน้าที่ของผู้แทนของปวงชน (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) การส่งเสียงเตือนภัยหรือชี้เบาะแสให้แก่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินและ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จนถึงการแสดงพลังต่อต้าน (Sanction) นักโกงกิน ในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อตัวและส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ ๑. อุปสรรคการก่อตัวและการทำหน้าที่ของประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน จากการสำรวจองค์กรประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชันในสื่อออนไลน์ แล้วพบว่า องค์กร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายและภารกิจหลักในการเป็นหัวหอก (Spearhead) ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย ยังมีอยู่จำนวนน้อยมาก ยกตัวอย่าง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ เครือข่ายของ ป.ป.ช. ทั่วประเทศ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 แสนคน เป็นต้น และเมื่อพิจารณาบทบาทขององค์กรประชาสังคมในการขับเคลื่อนต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ยังไม่ปรากฎผลงานที่โดดเด่นชัดเจนต่อสังคมไทยมากนัก ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจาก (๑.๑) ขีดความสามารถและสมรรถนะ (Competency) ขององค์กรยังมีจำกัด กล่าวคือ องค์เหล่านี้ยังขาดกำลังคน การเงิน วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (Facilities) โดยเฉพาะฐานข้อมูลในการเสริมสร้างความสามารถการทำงานให้องค์กร (๑.๒) การขาดโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและช่องทางสื่อสารระหว่างเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน ปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรประชาสังคมสามารถต่อต้านคอร์รัปชันไดอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ จะต้องมีโครงสร้างหรือเวทีประชาคม (Civic Forum) ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อเอื้อให้ผู้คนมีโอกาสสื่อสาร พูดคุยถึงปัญหาร่วมกัน เพื่อสร้างเจตจำนงร่วมกันแบบหุ้นส่วน (Partnership) สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันระดับชาติและระดับท้องถิ่นร่วมกัน แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีโครงสร้างหรือเวทีประชาคมสำหรับเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน (๑.๓) การขาดองค์กรร่ม (Umbrella Organization) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์กรและสมาชิกเครือข่ายเข้าหากัน อย่างเช่นในประเทศเกาหลีใต้ มีองค์กร “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ องค์กรพีเอสพีดี [People Solidarity for Participatory Democracy (PSPD)] เป็นองค์กรร่ม ซึ่งมียุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายพันธมิตร ด้วยการส่งเสริมให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งองค์กรในลักษณะเดียวกัน ในภูมิภาคและชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำงานเป็นอิสระและเป็นพันธมิตรกับองค์กรพีเอสพีดี โดยทำงานเชื่อมประสานกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ๒. ประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชันยังขาดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) องค์กรประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชันยังขาดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “คอร์รัปชัน” อย่างเช่น ความหมาย รูปแบบ ปัญหาคอร์รัปชัน และแนวทางการป้องกันและแก้ไขคอร์รัปชัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อมีความเข้าใจพื้นฐานร่วมกัน แล้วนำไปออกแบบเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้และขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าประสงค์เดียวกัน ๓. ข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน ปัจจัยท้าทายที่สำคัญต่อการก่อตัวและสร้างเครือข่ายพลังประชาสังคมคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยม ชินชาและเพิกเฉยต่อคอร์รัปชัน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ทั้งระดับส่วนบุคคลและองค์กร ยังขาดจิตสำนึก(Consciousness) ถึงความชั่วร้ายและภัยหรือผลกระทบของคอร์รัปชันที่มีต่อตนเองและสังคมในภาพรวม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักรู้ว่า “ตนเป็นผู้เสียหาย” และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน และประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้สึกความเป็น “เจ้าของ” เงินงบประมาณ เงินแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติของขวานทองเล่มนี้ อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจว่า การรั่วไหลของงบประมาณหรืองบประมาณที่สูญเสียไปจาก การทุจริตคอร์รัปชันนั้น ได้ทำให้ประชาชน “สูญเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง” ในการได้รับบริการสาธารณะจากรัฐ ได้แก่ บริการด้านการศึกษา บริการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต บริการด้านสาธารณสุข บริการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นต้น อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของประชาชนให้ก้าวสู่สถานภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม และมีศักดิ์ศรีของความเป็น “มนุษย์” ยิ่งไปกว่านี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการมีส่วนร่วมในการแสดงความเป็น “เจ้าของเงินแผ่นดิน” ในการใช้สิทธิ ใช้เสียง และเสนอความคิดเห็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณและทรัพยากรของแผ่นดินมาใช้เพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชน จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในฐานะเจ้าของเงิน จึงเพิกเฉย ชินชา ขาดความกระตือรือร้นในการต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐต้องบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและแสดงความรับผิดชอบ ทำอย่างไร “พลังประชาสังคม” ขยายเครือข่ายและขับเคลื่อนต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้องค์กรประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมกำลังให้แก่องค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ในการต่อสู้และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งด้านการป้องกัน การปลูกฝังและการเปิดโปงได้ ผู้เขียนขอเสนอข้อสเนอแนะต่อ ป.ป.ช. ดังนี้ ๑. ควรส่งเสริมให้มีการก่อตัวขององค์กรภาคประชาสังคม เพื่อทำหน้าที่หลักในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับชุมชน อย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ โดย ป.ป.ช. อาจเป็นเจ้าภาพ ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการ (Facilitator) และจัดหาทรัพยากรหรือจัดให้มีกองทุนสนับสนุนองค์กรประชาสังคม (ในระยะเริ่มต้น)อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ องค์กรประชาสังคมเหล่านี้ต้องมีความสามารถในการรักษาความเป็นอิสระของตน ทั้งด้านการเงินงบประมาณด้วย ๒. จัดให้มีเวทีประชาคม (Civic Forum) หรือให้องค์กรประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีประชาคม เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็น ปัญหาและทางออกหรือมาตรการการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ๓. ประสานงานสร้างเครือข่ายภาควิชาการ ให้ทำหน้าที่รวบรวมและผลิตข้อมูล รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ภาคประชาสังคม ๔. จัดหาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและช่องทางสื่อสารให้ องค์กรประชาชสังคมได้มีการสื่อสารถึงกันและกันได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ ก็ต่อเมื่อการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันจะต้องทำควบคู่กับการสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย มิเช่นนั้นแล้ว “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”
Posted on: Thu, 19 Sep 2013 21:53:28 +0000

Trending Topics



r NEC
Senarai nama-nama arwah untuk tahlil, tadarus dan zikir Ramadhan
{READER QUESTION} My one year old is beginning to have bad
On this day 3 years ago our lives forever changed. Nothing will

Recently Viewed Topics




© 2015