เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน - TopicsExpress



          

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้เีผยแพร่บทความชื่อ คำพิพากษาศาลโลกคดีการตีความคำพิพากษา เรื่อง ปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 มีสาระสำคัญ ดังนี้ ----- ผมได้เขียนเรื่อง “ปัญหาพระวิหาร จะลงเอยอย่างไร?” ในเดลินิวส์มา 20 ตอน ตอนท้ายๆที่ลงในเดือนสิงหาคม ผมได้คาดคะเนแนวทางของศาลโลกว่าอาจตัดสินใน 3 แนวทาง คือ 1. ศาลไม่รับตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามที่ไทยอ้างว่าเป็นการอุทธรณ์หรือขอให้พิจารณาใหม่ที่ซ่อนมาในรูปการขอตีความ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่ากัมพูชาแพ้ เราชนะเต็มรูป แต่ผมเห็นว่าเป็นไปได้ยาก 2. ศาลรับตีความตามคำขอของกัมพูชา แล้วตัดสินให้ตามที่กัมพูชาอ้างว่าเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็น “บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร” ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นไปได้ยาก 3. ศาลตีความแบบตุลาธิปไตย (Judicial Activism) คือรับคำร้องกัมพูชาและตัดสินตามใจศาล เหมือนกับที่ศาลเคยตัดสินในคดีขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาที่ศาลขีดเส้นกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวตามที่ศาลเห็นสมควร และผมสรุปว่า “ทางที่สามนี้ แม้จะดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นหากศาลใช้หลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด (Judicial Restraint) แต่เมื่อดูแนวโน้มจากากรออกมาตรการชั่วคราวในคดีนี้แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าศาลจะ “ไปให้สุดซอยก็ได้!” วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2556) คำพิพากษาออกมาแล้ว ปรากฏว่าผมคาดคะเนไม่ไกลจากคำตัดสินนัก ! ผู้พิพากษาทั้ง 17 คน ตัดสินไว้ในบทปฏิบัติการ (Operative Clause) ดังนี้ “ศาล (1) โดยมติเอกฉันท์ พบว่าศาลมีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคำร้องขอตีความคำพิพากษาศาลในปี 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และคำร้องนี้รับไว้พิจารณาได้ (2) โดยมติเอกฉันท์ประกาศโดยการตีความว่า คำพิพากษาศาลในปี 2505 ได้ตัดสินว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร(Cambodia has sovereignty over the whole territory of promontory of PreahVihear) ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษานี้ และด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้พันธกรณีที่จะต้องถอนทหารไทย กำลังตำรวจ รปภ. หรือผู้รักษาซึ่งเคยตั้งอยู่บนดินแดนนั้น” เป็นอันว่า 2 ประเด็นหลักๆที่ศาลตัดสิน มีดังนี้ครับ 1. ศาลมีอำนาจตีความคำพิพากษาหรือไม่ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล? ไทยขอให้ศาลยกคำร้องกัมพูชาโดยอ้างว่าไม่เคยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 และคำขอกัมพูชาเป็นคำอุทธรณ์คำพิพากษาหรือรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ซึ่งทำไม่ได้ ในเรื่องนี้ ศาลเห็นว่า “ข้อพิพาท” ในความหมายและขอบเขตคำพิพากษาบทปฏิบัติการนั้น หมายถึง ความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งว่าศาลได้พิพากษาให้มีผลผูกพันหรือไม่ และศาลได้พิจารณาว่า 1.1 ข้อพิพาทดังกล่าวมีอยู่จริง ตั้งแต่ปี 2505 เรื่อยมาจนถึงการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กล่าวคือ ในปี 2505 ประเทศไทยเห็นว่าศาลโลกได้ทิ้งคำว่า “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ที่ไทยต้องถอนทหารออกนั้นไว้โดยไม่ได้ให้คำจำกัดความ ดังนั้น ไทยจึงสามารถกำหนดขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ได้ฝ่ายเดียว ดังนั้น คณะรัฐมนตรีไทยจึงมีมติกำหนดพื้นที่ที่เป็นขอบเขตบริเวณดังกล่าว โดยล้อมรั้วลวดหนามและติดป้ายว่า “บริเวณใกล้เคียงของปราสาทพระวิหารไม่ไกลเกินกว่านี้” ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และได้ประท้วงพร้อมทั้งร้องเรียนว่าแนวรั้วดังกล่าวรุกล้ำอย่างเป็นนัยสำคัญเข้าไปในดินแดนกัมพูชา อันเป็นการละเมิดคำพิพากษา การถกเถียงกันนี้ยังมาปรากฏอีกครั้งหนึ่งเมื่อกัมพูชายื่นคำขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2550-2551 ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในขณะยื่นคำร้องขอตีความนี้ มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาแล้ว 1.2 เนื้อหาสาระของข้อพิพาท ศาลเห็นว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตคำพิพากษามีเนื้อหาสาระ 3 ประการ คือ ประการแรก คำพิพากษาปี 2505 ได้ตัดสินหรือไม่ว่าเส้นที่ปรากฏบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศในบริเวณปราสาท ประการที่สอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “บริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนกัมพูชา” ซึ่งอยู่ในบทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาปี 2505 ประการที่สาม ข้อพิพาทเกี่ยวกับลักษณะของพันธกรณีที่ต้องถอนทหารของไทย ว่าเป็นไปครั้งเดียวทันที (Instantaneous) อย่างที่ไทยอ้าง หรือเป็นพันธกรณีถาวรต่อเนื่อง (Continuing obligation) อย่างที่กัมพูชาอ้าง ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าเมื่อคู่กรณีมีความเห็นแตกต่างกันในความหมายและขอบเขตคำพิพากษา เช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องตีความบทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาปี 2505 และผลทางกฎหมายของเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 คำร้องของกัมพูชาจึงฟังขึ้น และควรรับไว้พิจารณา ศาลจึงมีเขตอำนาจเหนือคดีขอตีความนี้ตามธรรมนูญศาลฯ มาตรา 60 bawornsakmap1 2. การตีความคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินเมื่อปี 2505 ศาลวางหลักว่า ในคดีขอตีความนั้น ศาลจะต้องอยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 อย่างเคร่งครัด และไปตั้งคำถามต่อคำตัดสินในปี 2505 หรือจะไปตอบคำถามที่ศาลไม่ได้ตัดสินในปี 2505 ไม่ได้เป็นอันขาด แต่เพื่อประโยชน์ในการตีความบทปฏิบัติการ โดยทางปฏิบัติที่ผ่านมา ศาลอาจต้องดูการให้เหตุผลในคำพิพากษาปี 2505 ประกอบ ถ้าเหตุผลนั้นจะทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับการตีความบทปฏิบัติการ เพื่อการนี้ ศาลอาจพิจารณาโดยใช้คำฟ้องและคำให้การลายลักษณ์อักษร(The written pleadings) และบันทึกคำให้การด้วยวาจา(Record of the oral proceedings) ซึ่งแสดงให้เห็นจุดยืนของคู่กรณี และพยานหลักฐานที่ปรากฏหรือไม่ปรากฏต่อศาล ที่สำคัญคือ ศาลเน้นว่า การประพฤติปฏิบัติของคู่กรณีภายหลังศาลได้พิพากษาในปี 2505 ก็ดี การไปหยิบยกข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลได้พิจารณาในคำพิพากษาปี 2505 ก็ดี ย่อมกระทำมิได้ 2.1 จุดสำคัญของคำพิพากษาปี 2505 ศาลอธิบายว่า จากการพิจารณาคำพิพากษาปี 2505 นั้น ประการแรก ข้อพิพาทในปี 2505 เป็นเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่ ไม่ใช่ข้อพิพาทเพื่อกำหนดเขตแดน ดังนั้น ศาลจึงไม่ได้พูดถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือเขตแดนในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี 2505 เลยแม้แต่น้อย ประการที่สอง ศาลยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มีบทบาทสำคัญในการให้เหตุผลของศาล เพราะเมื่อศาลเห็นว่าคู่กรณียอมรับแผนที่ แผนที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา และเมื่อต้องตีความสนธิสัญญา ก็ต้องให้ความสำคัญกับเส้นดังกล่าวในบริเวณพิพาท และ ประการที่สาม ศาลได้แสดงให้เห็นว่าในคำพิพากษานั้น ศาลให้ความสนใจเฉพาะอธิปไตยในพื้นที่พระวิหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาในปี 2505 พิจารณาว่าบริเวณพิพาทนั้น มีขนาดเล็ก(The Judgement shows that the Court considered that the disputed area was a small one) 2.2 การตีความบทปฏิบัติการ 3 ย่อหน้าของคำพิพากษา ปี 2505 ก. บทปฏิบัติการแรก ที่ศาลตัดสินว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” นั้น ศาลเห็นว่ามีความหมายชัดเจน และบทปฏิบัติการที่ 2 ที่สั่งให้ไทยถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงก็ดี บทปฏิบัติการที่ 3 ที่สั่งให้ไทยคืนของทั้งหลายที่นำไปจากปราสาทก็ดี เป็นผลมาจากคำพิพากษาบทปฏิบัติการแรก การตีความจึงต้องตีความทั้ง 3 บทปฏิบัติการไปด้วยกันทั้งหมด (As a whole) ไม่สามารถเลือกตีความเฉพาะคำบางคำ หรือประโยคบางประโยค ข. บทปฏิบัติการที่ 2 ซึ่งศาลพิพากษาว่าไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนทหาร ถอนกำลังตำรวจ รปภ. หรือผู้เฝ้ารักษาที่อยู่ ณ ปราสาท และบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชานั้น ศาลในเวลานั้น ไม่ได้ระบุบริเวณที่เป็นดินแดนกัมพูชาที่ต้องให้ไทยถอนกำลังออกไป ดังนั้น ศาลนี้จึงต้องมาดูว่าตามพยานหลักฐาน ในปี 2505 นั้น กองกำลังของไทยตั้งอยู่ ณ ส่วนใด ศาลโลกในคดีนี้ได้พบพยานหลักฐานชิ้นเดียวที่ศาสตราจารย์ อัคเคอร์มานน์(Professor Ackermann) ซึ่งฝ่ายไทยอ้างเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ (ร่วมกับศาสตราจารย์ สเกเมอร์ฮอร์น) ซึ่งได้ไปตรวจบริเวณปราสาทเป็นเวลาหลายวันในเดือนกรกฎาคม 2504 ได้พบตำรวจตระเวนชายแดนหมู่หนึ่ง และผู้รักษาปราสาทไทย 1 คน โดยตำรวจอยู่ในแคมป์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท และผู้รักษาปราสาทอยู่ในบ้านที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของแคมป์ตำรวจเล็กน้อย (คำให้การของอัคเคอร์มานน์นี้อยู่ในรวมเอกสารคดีพระวิหาร เล่ม 2 หน้า 401-402 – ICJ, Pleadings, Temple of PreahVihear, Vol. II pp. 401-402) และที่ปรึกษากฎหมายทางฝ่ายไทยก็ยอมรับว่าแคมป์ตำรวจอยู่ทางใต้ของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่ทางเหนือของเส้นซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นสันปันน้ำ (คำให้การของที่ปรึกษาทางกฎหมายไทย อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 559) เมื่อศาลพิพากษาให้ถอนทหาร กองกำลังตำรวจ รปภ. หรือผู้รักษาปราสาทไปจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงจึงต้องเข้าใจว่าคำพิพากษานั้นเจาะจงให้ถอนตำรวจที่อัคเคอร์มานน์พบ ดังนั้น คำว่า “บริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา” ในบทปฏิบัติการวรรค 2 อย่างน้อยต้องตีความให้คลุมไปถึงบริเวณที่ตำรวจไทยตั้งอยู่ในคดีเดิม เมื่อปี 2505 และเมื่อที่ตั้งตำรวจอยู่ทางทิศเหนือของเส้นที่คณะรัฐมนตรีไทยมีมติให้กำหนด เส้นที่กำหนดขึ้นนั้น จึงไม่ใช่การตีความที่ถูกต้องของ “บริเวณใกล้เคียง” ที่ไทยอ้าง ศาลตัดสินต่อไปว่า มีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ศาลมั่นใจว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทไม่ใช่ตามที่ไทยอ้าง กล่าวคือ ปราสาทพระวิหารอยู่บนภูมิประเทศที่ชัดเจน คือ อยู่บนยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร(Promontory) ทางทิศตะวันออก ทางทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ยอดแหลมนั้น ตัดเป็นหน้าผาลงไปยังที่ราบฝั่งกัมพูชา ทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือพื้นดินลาดชันอย่างเห็นได้ชัดลงไปสู่สิ่งที่ศาสตราจารย์อัคเคอร์มานน์เรียกว่า “หุบเขา (Valley) ...ระหว่างเขาภูมะเขือ (Pnom Trap Mountain) และเขาพระวิหาร” และหุบเขาที่แยกระหว่างเขาภูมะเขือ และเขาพระวิหารนี้เอง จะเทลาดลงไปทางทิศใต้สู่ที่ราบกัมพูชา และถ้าจะขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารจากกัมพูชา ก็ต้องขึ้นทางหุบเขานี้เอง ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่า “บริเวณใกล้เคียงของปราสาท” ต้องขยายไปจนถึงยอดแหลมของเขาพระวิหารนี้ทั้งหมด(The entirety of the PreahVihearPromontory) ส่วนทางทิศเหนือนั้น ยอดแหลมของเขาพระวิหารนี้อยู่ ณ เส้นที่อยู่บนแผนที่ภาคผนวก 1 ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมที่อยู่ภายในสภาพภูมิศาสตร์นี้ ซึ่งมีขนาดเล็กและมีภูมิประเทศที่ชัดเจนเป็นขอบเขตนี้เองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา สำหรับข้ออ้างของกัมพูชาที่ตีความว่าบริเวณใกล้เคียงรวมไปถึงเขาภูมะเขือด้วยนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เพราะภูมะเขือกับยอดแหลมของเขาพระวิหารนั้น อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน และในปี 2505 กัมพูชาก็ไม่ได้ถือว่าบริเวณนี้เป็น “เขตปราสาท” และมิเคยปรากฏว่า ทหารไทย หรือตำรวจอยู่บนเขาภูมะเขือในปี 2505 เลย ดังนั้น ศาลเห็นว่า ภูมะเขือจึงไม่อยู่ในบริเวณที่พิพาทกันในปี 2505 และคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ก็ไม่ได้ระบุว่า ภูมะเขือเป็นของไทยหรือกัมพูชา ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมของเขาพระวิหารจบลง ณ เชิงภูมะเขือ ซึ่งหมายถึงเมื่อพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขานั่นเอง ! ในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษาที่ศาลอ้างถึงในบทปฏิบัติการว่า“บริเวณใกล้เคียงในดินแดนกัมพูชา” หมายถึง ยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารทั้งหมดนั้น มีความซึ่งผมขอแปลมาไว้ดังนี้ “จากเหตุผลในคำพิพากษาปี 2505 ซึ่งขยายให้กระจ่างขึ้นโดยคำให้การทั้งหลายในคดีเดิมนั้น ปรากฏว่าขอบเขตของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (the limits of the promontory of PreahVihear) ถึงตอนทิศใต้ของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นลักษณะทางธรรมชาติ ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยอดแหลมของเขาพระวิหารตัดเป็นหน้าผาลงไปยังที่ราบฝั่งกัมพูชา คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายต่างยอมรับร่วมกันว่าหน้าผานี้และดินแดน ณ เชิงผา อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชาแน่ ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลาดชันลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะไม่ชันอย่างหน้าผา พื้นลาดชันด้านนี้เทลาดไปสู่หุบเขา (valley) ซึ่งแยกเขาพระวิหารออกจากภูมะเขือ และหุบเขานี้ก็เทลาดทางทิศใต้ไปสู่ที่ราบกัมพูชา (ดูคำพิพากษา ย่อหน้า 89 ข้างต้น) ด้วยเหตุผลดังศาลได้กล่าวแล้ว (ดูคำพิพากษาย่อหน้า 92-97 ข้างต้น) ศาลเห็นว่าภูมะเขืออยู่นอกบริเวณพิพาท และในคำพิพากษาปี 2505 เอง ศาลก็ไมได้ตัดสินว่าภูมะเขือนี้อยู่ในดินแดนไทยหรือกัมพูชา ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารยุติลง ณ เชิงเขาภูมะเขือ ซึ่งหมายความว่า ณ ที่ซึ่งพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขานั่นเอง ทางตอนเหนือขอบเขตของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารคือเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 จากจุดหนึ่งไปยังด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท ซึ่งเส้นดังกล่าวไปบรรจบหน้าผา ณ จุดตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขา ณ เชิงเขาภูมะเขือ ศาลเห็นว่าบทปฏิบัติการวรรค 2 ของคำพิพากษาปี 2550ระบุให้ไทยถอนบุคลากรทั้งหมดที่ไปตั้งอยู่ ณ ดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารดังที่ศาลได้ระบุข้างต้น” อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาย่อหน้าที่ 99 ศาลมีข้อสังเกตว่า ในเรื่องข้อโต้แย้งของไทยเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนตำแหน่งของแผนที่ภาคผนวก 1 และการระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ในบริเวณที่ระบุไว้ในย่อหน้าก่อนนี้ อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลในปี 1962 ไม่ได้ตัดสินปัญหาดังกล่าว และในการพิจารณาคดีภายใต้มาตรา 60 ของศาลในปัจจุบัน เพื่อตีความคำพิพากษาเมื่อมี 1962 นั้น ศาลในปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาดังกล่าวได้ ถึงกระนั้น คู่ความในคดีก่อนก็มีพันธกรณีในการนำคำตัดสินของศาลไปปฏิบัติตามหลักสุจริต (Good Faith) ทั้งนี้ หัวใจสำคัญก็คือ พันธกรณีดังกล่าวไม่ได้อนุญาตให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถกำหนดวิธีการแก้ปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ค. ความสัมพันธ์ระหว่างบทปฏิบัติการวรรค 2 กับส่วนที่เหลือ ศาลเห็นว่าขอบเขตของดินแดนในบทปฏิบัติการทั้ง 3 วรรคต่างก็เป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น คำพิพากษาในบทปฏิบัติแรกที่ว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” จึงต้องเข้าใจว่า หมายถึง ดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (the whole of the territory of the promontory of PreahVihear) เหมือนกับที่กล่าวในบทปฏิบัติการที่ 2 ว่าประเทศไทยต้องถอนทหาร ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่ “ ณ ปราสาท หรือ บริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา” ( “at the Temple or in its vicinity on Cambodian territory) และในบทปฏิบัติการที่ 3 ที่ให้ไทยคืนวัตถุที่นำไปจาก “ปราสาทหรือพื้นที่ปราสาท” (The Temple or the Temple area) (ศาลขีดเน้นเอง) ซึ่งทั้ง 2 บทปฏิบัติการนี้อ้างถึงดินแดนเดียวกันที่ขนาดเล็ก (The same small parcel of territory) ดังนั้น ดินแดนในความหมายของทั้ง3วรรคของบทปฏิบัติการจึงหมายถึงยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (the promontory of PreahVihear) ภายในขอบเขตที่ระบุในคำพิพากษาย่อหน้าที่ 98 ดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชาแต่ประการใด และศาลก็ไม่ต้องตัดสินว่า พันธกรณีที่ไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในบทปฏิบัติการวรรค 2 เป็นพันธกรณีที่ “ต่อเนื่อง” (continuing) ตามที่กัมพูชาอ้าง เพราะไทยเองก็ยอมรับว่าตนมีพันธะทั่วไปและต่อเนื่องที่จะต้องเคารพบูรณภาพของดินแดนกัมพูชา ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนรับการแก้ไขแล้ว และความไม่แน่นอนหมดไปคู่กรณีแต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติพันธกรณีที่แต่ละประเทศมีอยู่โดยสุจริตด้วยความเคารพบูรณภาพของดินแดนของรัฐอื่น และต้องระงับข้อพิพาทโดยวิธีสันติ ศาลยืนยันต่อไปว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกทั้งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมของคนในแถบนั้น ศาลจึงขอเตือนว่าตามมาตรา 6 ของอนุสัญญามรดกโลก ซึ่งคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเป็นภาคีนั้น ทั้งกัมพูชาและไทยต้องร่วมมือกันเองและร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการปกปักรักษามรดกนั้น โดยแต่ละรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ “กำหนดมาตรการใดๆ โดยจงใจที่อาจทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงหรือโดยอ้อม” ต่อมรดกโลกนั้น โดยเฉพาะศาลต้องการเน้นย้ำว่าจะต้องเปิดให้เข้าปราสาทจากที่ราบฝั่งกัมพูชาได้ ----------000---------- จากคำพิพากษาที่ท่านทูตวีรชัย พลาศัย หัวหน้าคณะต่อสู้คดีของไทยแถลงข่าวเมื่อออกจากการฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาไม่ได้ตัดสินเรื่อง เขตแดนตามที่กัมพูชาขอ ไม่ได้ระบุว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ฝรั่งเศสทำในปี 1907 และศาลใช้เป็นการตัดสินคดีมีผลบังคับ และคำพิพากษาไม่ได้ตัดสินเรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตรและภูมะเขือที่ต่างอ้างว่าเป็นของตนแต่อย่างใด คำแถลงนี้ถูกต้อง แต่ที่ควรกล่าวก็คือ คดีนี้ศาลตัดสินโดย เรื่องเอกฉันท์ 17 เสียง ซึ่งจะมีน้อยคดีที่เป็นเช่นนี้ คดีอื่นอาจมีผู้พิพากษาที่เห็นแย้งบ้าง แต่คดีนี้แม้ผู้พิพากษาเฉพาะคดีที่ไทยตั้ง (ผู้พิพากษา Cot) ก็ยังเห็นด้วยกับคำพิพากษา ข้อสังเกตต่อไปก็คือ คดีนี้ศาลตัดสินแบบตุลาธิปไตย (judicial activism) พอควรโดยเฉพาะการกำหนดให้ “ดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไป” (promontory of PreahVihear)โดยระบุอ้างสภาพภูมิประเทศ (geographical features) ซึ่งเป็นที่เห็นได้ง่าย และคำให้การของศาสตราจารย์อัคเคอร์มานน์ที่ยืนยันว่าแคมป์ตำรวจไทยใน ปี2505 อยู่เลยจากเส้นที่ ครม.ไทยยึดมาเป็นเหตุผลประกอบกันใช้เส้นที่ขีดในแผนที่ภาคผนวก 1 ทางทิศเหนือมาตัดยอดเขาซึ่งจะมีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาปี 2505 ไม่เคยพิพากษาเช่นนี้ นี่ก็แปลว่าศาลขีดเอาคล้ายกับที่เคยขีดเขตปลอดทหารชั่วคราว เพียงแต่คราวนี้พื้นที่ที่ขีดเล็กกว่าเดิมมาก !ผมและคุณเวนเดล เพื่อนชาวแคนาดาลองอ่านย่อหน้า 98 ของคำพิพากษาแล้วขีดเส้นตามความเข้าใจของผมสองคนให้ท่านผู้อ่านดู ตามรูปที่ปรากฏนี้ ซึ่งก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าเป็นจุดใดแน่ ดังที่ผมได้ทำเครื่องหมายคำถามเอาไว้ นี่ก็แปลว่า คำพิพากษานี้เองก็อาจจะต้องตีความกันอีกรอบ เว้นแต่ไทยและกัมพูชา จะเจรจาตกลงกันได้โดยไม่ทะเลาะกันอีก ก็ต้องดูกันต่อไปว่าทั้ง 2 ประเทศจะทำอย่างไรต่อไป ? ----- ภาพประกอบ - บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จากเว็บไซต์ bangkokbiznews CREDIT : isranews.org
Posted on: Wed, 13 Nov 2013 08:23:02 +0000

Trending Topics



Recently Viewed Topics




© 2015